วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ข้อมูลการบวชวัดชลประทานฯแบบละเอียด (Part 1: เตรียมตัวให้พร้อม!)

หลังจากที่เรียนจบและทำงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในใจก็นึกแต่จะหาเวลาบวชเรียนให้ได้สักครั้งหนึ่ง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแรกเลยก็คือ จะไปบวชที่ไหนดี? นึกๆไปเลยคิดไปถึงวัดแห่งหนึ่งที่เคยไปขอมาม่าปลากระป๋องไปทำค่ายอาสาฯสมัยเมื่อยังเรียนมหาลัยอยู่ (แล้วโดนไล่ตะเพิดเพื่อดัดสันดานในวันแรก 555) เลยคิดว่า อืม ที่นี่น่าจะช่วยดัดสันดานและเปิดหูเปิดตาโลกทางธรรมได้ จึงตัดสินใจเสิร์ชหาข้อมูลรายละเอียดการบวชของวัดชื่อดังย่านปากเกร็ดแห่งนี้

สำหรับบทความนี้ จะพยายามเรียบเรียงข้อมูลการสมัคร เตรียมตัว และการใช้ชีวิตโดยทั่วไปหลังจากบวชเรียบร้อยแล้วของ "วัดชลประทานรังสฤษดิ์" ที่เรียกได้ว่าหืดจับพอสมควรทีเดียวกว่าจะฝ่าด่านอรหันต์มาได้

(ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://watchol.blogspot.com/ ครับ เป็นแรงบันดาลใจที่อยากจะเขียนรีวิวแบบ update ต่อยอดต่อไปครับ)

(1) คิดให้ดีก่อนบวช

สิ่งแรกที่ผู้บวช (และผู้ปกครองที่ปรารถนาจะให้บุตรหลานออกบวช) ต้องคิดเป็นอย่างแรกเลยคือ จะบวชไปทำไม? โดยมากแล้ววัฒนธรรมไทยนั้นนิยมบวชเป็นประเพณีโดยมีความเชื่อว่าบวชแล้วพ่อแม่จะได้จับชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์บ้าง มีความเชื่อว่าเป็นการ "บวชเรียน" เพื่ออบรมบ่มนิสัยให้กลายมาเป็นฆราวาสที่ดี สามารถทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวและดำเนินชีวิตในสังคมต่อไปได้อย่างปกติสุข ฯลฯ 

ไม่ว่าเป้าหมายจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม อยากฝากว่าผู้บวชเองควรจะเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นที่จะบวช และเมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติอย่างดี ประโยชน์ก็จะตกไปอยู่ที่ตัวผู้บวชเป็นอย่างมากครับ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาธรรม นั่งกัมมัฎฐาน การฝึกตนและระเบียบวินัย ฯลฯ ถ้าตั้งใจแล้วจะได้ประโยชน์มากจริงๆ และเมื่อเจ้าตัวปฏิบัติดีปฏิบัติชอบภายหลังจากสึกออกมาแล้ว ก็น่าจะได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนรอบตัวเขาต่อไปเรื่อยๆ อันนับได้ว่าเป็นประโยชน์อย่างหาที่สุดมิได้อีกโสตครับ

เรื่องที่สองก็คือ จะมีพิธีรีตองบวชกันอย่างไร? ต้องบอกก่อนเลยว่าวัดนี้จะไม่ได้มีพิธีบวชแบบที่เราๆท่านๆอาจจะคุ้นเคยกันมา อาทิ การแห่นาค การโปรยทาน ฯลฯ นะครับ เพราะที่นี่เค้าถือว่าในสมัยพุทธกาลเองผู้บวชก็ไม่ต้องทำพิธีอะไรมากครับ แค่ให้พระพุทธเจ้าบอกรับ หรือหมู่สงฆ์สวดรับก็พอแล้ว เอามาแต่ความตั้งใจดีที่จะบวชครับ พิธีการอะไรนั่นเป็นแค่เปลือก มิใช่แก่นแต่อย่างใด (แต่จะได้ร่วมงานบวชหมู่ที่มีผู้บวชเยอะมากๆเป็นอันดับต้นๆในประเทศเลยก็ว่าได้ครับ)

เมื่อพิธีการอะไรไม่ยุ่งยากลำบากมาก ค่าใช้จ่ายก็ลดลงตามไปด้วยครับ บวชบางวัดอาจใช้เงินหลักหมื่นขึ้นไป แถมญาติโยมอาจต้องมาเหนื่อยเตรียมงานเตรียมอาหารสารพัด แต่ที่นี่ไม่ต้องคิดมากครับ ทางวัดจะจัดการเรื่องอาหารวันพระบวชให้เองไม่ต้องลำบากญาติโยม ส่วนเรื่องปัจจัยสนับสนุนไม่ใช่ปัญหาครับ อยู่ที่ราคา 3,000 บาท โดยทางวัดจะช่วยดำเนินการจัดหาเครื่องอัตถบริขาร อาทิ จีวร บาตร ซึ่งคุณภาพดีทีเดียวครับ และไม่ต้องไปหาซื้อให้วุ่นวาย ส่วนใครที่ไม่มีปัจจัยก็สามารถบอกทางวัดได้ตรงๆ ทางวัดก็ยินดีสนับสนุนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายครับ แต่ใครที่สามารถสนับสนุนได้ก็อยากให้สนับสนุนครับ ให้ทางวัดช่วยอุดหนุนผู้ที่เดือดร้อนหรือจำเป็นจริงๆละกันนะครับ (ส่วนใครอยากทำบุญกับทางวัด ก็สามารถบริจาคสมทบทุนเครื่องอัฏฐบริขารนี้ให้กับภิกษุรูปอื่นได้เช่นกันครับ)

สรุปคือ วัดนี้เหมาะสำหรับ 
- ผู้ที่อยากบวชเรียน มีจิตศรัทธา หรืออยากศึกษาพระธรรม (มีคาบเรียน) 
- ผู้ที่ไม่อยากรบกวนญาติโยมเหนื่อยไปกับการจัดงาน 
- ผู้ที่ไม่นิยมพิธีกรรมที่มากมาย อาทิ การแห่นาค 
- ผู้ที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการบวช
- ผู้ที่อยากไปปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ ไชยา (บวชครบ 15 วัน ไปได้เลยครับ แต่ต้องไป 10 วันนะ)

(2) อยากบวชแล้วทำยังไงดี

ง่ายๆครับ เข้าไปที่ http://www.watchol.org/ (เว็บไซต์ทางการของวัด) แล้วเข้าไปหากำหนดการบรรพชาอุปสมบทครับ ซึ่งปกติแล้วจะเปิดให้สมัครทุกวันอาทิตย์ที่สองของเดือน (เช่น อยากบวชเดือนเมษา ก็ไปสมัครเดือนมีนา) โดยจะเปิดให้บวชตั้งแต่เดือน ม.ค. - มิ.ย. และ พ.ย. - ธ.ค. ครับ (เดือนที่ว่างเว้นไว้คือรุ่นจำพรรษา จริงๆขอบวช 15 วันได้ครับก่อนถึงวันเข้าพรรษา โดยไม่ต้องกล่าวคำขอจำพรรษา แต่หลังวันเข้าพรรษาแล้วเหมือนจะไม่ได้แล้วครับ ไม่รับเพิ่ม)

จำนวนวันขั้นต่ำในการบวชคือ 15 วันครับ (ใครอยากบวชเกิน ได้ครับ จัดไป พระท่านไม่ว่าอะไร)

บางท่านอาจสงสัยว่าบวชแค่ 15 วันมันจะไปได้อะไร อันนี้อยู่ที่การปฏิบัติของแต่ละท่านครับ ถ้าตั้งใจจริงๆ 15 วันมันก็มีผลดีมากๆ บางทีบวชหลายเดือนแต่เข้าเกณฑ์ "เช้าเอน เพลนอน บ่ายพักผ่อน เย็นจำวัด ดึกสงัดซัดมาม่า" (ท่อนนี้จำมาจากพระอาจารย์ครับ 555+) อย่างนี้ก็ไม่ได้อะไรครับ ของอย่างนี้มันแล้วแต่บุคคลจริงๆ แหะๆ

ถ้าตั้งใจจะบวชแล้วรีบแพลนไว้ล่วงหน้าเลยนะครับ จะได้ไม่พลาด (รุ่นนึงตกประมาณตั้งแต่แปดสิบรูป จนถึงรุ่นผมที่ 177 ครับ! (อีกสองท่านไม่ได้อุปสมบทพร้อมกัน) ถ้าไม่อยากบวชเยอะแนะนำให้หลีกเลี่ยงเดือนพฤษภา-มิถุนาไปเลย)

(3) เตรียมตัวเตรียมใจ

หลังจากดูแล้วว่าจะไปบวชช่วงไหน ก็ไปวัดวันรับสมัครเลยครับ โดยเค้าจะให้ไปนั่งรอที่โรงเรียนพุทธธรรมครับ จากนั้นก็จะให้กรอกใบประวัติ (แนะว่าให้เขียนลายมือดีๆ อ่านออกนะครับ) แล้วพระครูปลัดวิมลสิริวัฒน์ (หลวงพ่อสมชาย) ท่านก็จะเอาใบประวัตินั่นแหละมาเรียกพวกเราไปรายงานตัวทีละคน โดยเราจะรายงานประวัติส่วนตัวคร่าวๆ เช่น ชื่ออะไร อายุเท่าไหร่ เรียนจบที่ไหนมา ทำงานที่ไหน จะบวชกี่วัน บวชทำไม ราวๆนี้

ลืมบอกไปครับว่าวัดนี้เน้นเรื่องตรงต่อเวลามาก ไปสายโดนตัดสิทธิ์สมัครทันที (รวมถึงวันอื่นๆด้วยนะ)

แนะนำให้ตัดเล็บไป ทำผมเผ้าให้ดูเรียบร้อย ที่เจาะหูก็เอาออกนะครับ อะไรก็ตามที่สามารถทำให้ถูกเพ่งเล็งได้ก็เอาออกไป เพราะไม่งั้นโดนหลวงพ่อท่านสวดยับแน่ (แต่จริงๆท่านใจดีมากครับ ที่ดุก็ดุไปงั้น เพราะคนมาสมัครเยอะมาก + ถ้าไม่ดุแต่แรกคนมาบวชก็จะไม่กลัว) บางรายอาจถูกถามมากหน่อยก็ไม่เป็นไร ตอบไปตามเรื่องเดี๋ยวท่านก็ให้กลับไปนั่งที่เอง

ลืมบอกไปอีกครับว่า ใครมีรอยสักจะถูกเรียกมาสกรีนก่อน ซึ่งสมัยก่อนเข้มงวดมากถึงขนาดไม่รับคนที่สัก แต่เดี๋ยวนี้เท่าที่ผมเห็นก็รับนะครับ แต่แค่เอามาสกรีนกันก่อนว่ามันมากน้อยขนาดไหนเท่านั้นเอง (เค้าเน้นตรงไหล่และแขนขวาครับ ถ้าไม่มากมายอะไรก็น่าจะได้อยู่)

จากนั้นจะชี้แจงรายละเอียดวันสอบครับ (ใช่ครับ สอบ!) แต่เป็นการสอบท่องบทคำขอบรรพชาอุปสมบท ซึ่งจะทำการสอบในอาทิตย์ถัดไป โดยท่านจะชี้แจงรายละเอียดวันสอบ กับรายละเอียดวันปลงผมและบวชแบบคร่าวๆต่อไป จากนั้นก็แจกบทคำขอบรรพชาอุปสมบท (เอสาหังฯ) แล้วมีการซ้อมว่าตรงไหนอ่านอย่างไร แล้วก็จบแล้วครับสำหรับวันสมัคร

และต้องเตรียมเอกสารการสมัครมาให้ครบด้วยนะครับ รวมถึงตรวจสุขภาพ - ตรวจเลือดด้วยน่ะ (ตามลิงค์นี้ http://www.watchol.org/download/document/item/application-for-ordination-all?category_id=1)

สำหรับปัจจัยค่าบวช ที่นี่คิด 3,000 บาทครับ สำหรับเป็นค่าไตรจีวร และบาตร เพื่อที่ทางวัดเองก็สามารถซื้อได้ในราคาย่อมเยาขึ้น ตลอดจนให้เครื่องบริขารของทุกคนเหมือนกัน และที่สำคัญคือ ญาติโยมจะได้ไม่ต้องไปลำบากหาซื้อมาครับ แถมเวลาไปซื้อเนี่ยจะได้ไม่ต้องไปซื้อเครื่องบริขารที่ไม่น่าจะได้ใช้ (เช่น มีดโกน เข็ม ที่กรองน้ำ) ครับ (ส่วนใครที่ไม่มีปัจจัย บอกทางวัดได้โดยตรงครับ)

สำหรับท่านที่ต้องการเตรียมตัวล่วงหน้า เข้าเว็บไซต์วัดตามเคยได้ที่นี่ครับ http://www.watchol.org/download/document/item/khan-nak และสำหรับท่านที่สงสัยว่าคำไหนท่องยังไง หรือมีเวลาเตรียมตัวน้อย ก็ไปโหลดไฟล์เสียงมาได้ครับตามลิงค์นี้ http://www.watchol.org/download/mp3 ซึ่งตัวผมเองก็ทั้งท่อง ทั้งฟังครับ เพราะมีเวลาแค่อาทิตย์เดียวก่อนสอบ (แต่ท่านใดมีธุระ ทำงาน ฯลฯ แนะนำว่าเตรียมตัวมาแต่เนิ่นๆครับ)

วันสอบก็ไม่มีอะไรมากครับ ไปนั่งรอเหมือนเดิม ถึงเวลาท่านจะให้กรอกใบสมัครบวช และเรียกไปสอบเป็นชุดๆ กับพระอาจารย์ท่านต่างๆ งานนี้ก็ต้องมาวัดกันละครับว่าใครซ้อมมาดีแค่ไหนอะไรยังไง

เสร็จแล้วก็เข้าแถวมอบเอกสารและปัจจัยค่าเครื่องบริขาร แล้วก็นั่งฟังคำชี้แจงรวมเกี่ยวกับรายละเอียดวันปลงผม และวันบวช เท่านี้ก็เรียบร้อยครับ

(4) ก่อนบวชจริงต้องเตรียมอะไรบ้างนะ

สิ่งแรกที่ต้องรู้คือ วันปลงผมกับวันบวชเป็นคนละวันกัน โดยเจ้านาคจะต้องมาปลงผมและอยู่วัด 1 คืนก่อนวันบวช สิ่งที่ต้องเตรียมไปมีดังนี้ครับ

- เสื้อเชิ้ตสีขาว 1 ตัว (แขนยาวก็ดีครับ แต่ถ้าไม่มีใส่แขนสั้นก็ไม่เป็นไร)
- เข็มขัด 1 เส้น (ต้องมั่นใจนะครับว่ารัดกับผ้านุ่งแล้วจะไม่หลุด เพราะวันบวชจะต้องนุ่งผ้านุ่งขาวของทางวัดไปบวช)
- ของใช้ทั่วไป (สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน มีดโกนหนวด ผ้าเช็ดตัว ยาประจำตัว ช้อนส้อม รองเท้าแตะ หมอน ผ้าห่ม มุ้งครอบ (ถ้ามี) ไฟฉาย (ถ้ามี) )
- ถ้ามีจิตศรัทธาและกำลังทรัพย์ แนะนำซื้อผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน สก็อตไบรท์ ไปครับ (ไว้ซักจีวร ล้างบาตร ซื้อมาก็เอาไปแบ่งๆกันใช้ ถ้าเหลือก็ถวายวัดครับ จะได้ไม่ลำบากวัดด้วย)
- เงินไม่ต้องเอาไปครับ ไม่ได้ใช้อะไรเลยจริงๆ (และมักจะมีขโมยมาอยู่เนืองๆ)
- มือถือก็ไม่ต้องเอาไปครับ ห้ามใช้ เอาไปโดนยึด
- ในคืนแรกหลังปลงผมอาจเบื่อเพราะว่างจนไม่รู้จะทำอะไร แนะนำให้เอาหนังสือธรรมะไปซักเล่มแก้ว่างครับ 

ถ้าใครคิดว่าอาจจะแพ้ความร้อน ฝุ่น จีวรใหม่ หรืออะไรก็ตาม แนะนำเลยครับ ซื้อยาผงโยคี/ผงวิเศษอะไรพรรค์นี้ไปเตรียมเลย เพราะผมโดนมาแล้วครับช่วงแรกๆที่บวช ทรมานมากกับอาการคัน ถ้าไม่ได้เด็กวัดเอายาผงโยคีมาให้นี่ก็คงทรมานนานกว่านี้ครับ (ใช้ได้ผลจริงๆครับ แนะนำๆ) 

สำหรับวันปลงผมก็ไม่มีอะไรมากครับ นัดเจอกันที่โรงเรียนพุทธธรรมเหมือนเดิม แต่เค้าจะมีเรียงเลขที่เอาไว้ตามเก้าอี้ (เรียงตั้งแต่ภันเต 1 ถึงสุดท้าย โดยเรียงจากอายุครับ) แล้วรอรับเครื่องบริขาร + เสื่อ ก็เอาไปฝากญาติโยมไว้ จากนั้นก็กลับมานั่งรอเรียกไปจับคู่รูมเมท จับฉลากห้องในกุฎิ แล้วก็พากันเอาเครื่องบริขารไปกุฎิเลยครับ (อันนี้ผมแนะนำว่าให้เอาของใช้ส่วนตัวที่เตรียมมาจากบ้านไปด้วยเลย เพราะมันจะหาเวลาเอาเข้าไปทีหลังยากแล้ว แหะๆ)

เมื่อเข้าไปก็ไปวางของ อาจจะทำความสะอาดหรือไม่อันนี้แล้วแต่ท่านเลยครับ จากนั้นก็ออกมาโกนผมที่ลานสนามหญ้าในกุฎิ จะมีหลวงพี่หลายๆรูปคอยเราอยู่ จากนั้นก็ฟอกสบู่ที่ผมเยอะๆไม่ต้องล้าง ถือขันใส่น้ำไปขันนึง แล้วเข้าไปโกนเลยครับ (ท่านไหนจะให้พ่อแม่หรือใครตัดผมตรงนั้นก็ทำก่อนไปนั่งโกนนะครับ ผมเข้าไปนั่งคนแรกเจอโกนเลยไม่มีรีรออะไร ที่นี่ไม่เน้นพิธีกรรมจริงๆครับ)

เสร็จแล้วก็ล้างหัวแล้วรอเรียกรวมที่ลานหินโค้งครับ ถึงตรงนี้จริงๆบอกลาญาติพี่น้องไปได้เลยหลังโกนหัว โดยจะมีการซักซ้อมพิธีการบรรพชา (บวชเณร) และอุปสมบท (บวชพระ) ครับ แล้วก็จะย้ายไปดูสถานที่อุปสมบทที่โบสถ์เพื่อซักซ้อมอีกที เสร็จแล้วก็กลับไปประชุมรวมที่กุฎิครับ โดยพระอาจารย์ก็จะนัดแนะไปว่าจะต้องทำอะไรบ้างในวันบวช คิดเอาไว้เลยนะว่าจะไปพูดอะไรกับคุณพ่อคุณแม่ ฯลฯ อะไรประมาณนี้ จากนั้นก็แยกย้ายเข้าห้องของตนเพื่อพักผ่อนครับ (วันนี้มีอาหารเย็นให้กินอยู่ครับ)

*******

สำหรับวันบวช ก็เริ่มตื่นกันตอนตีสี่ครับ เรียกรวมกันตอนตีห้ามาดูความเรียบร้อยของเครื่องแต่งกาย (เสื้อเชิ้ตขาวกับผ้านุ่งขาว) แล้วก็กินข้าวเช้า (มีข้าวต้ม ไข่เจียว ยำผักกาดดองอะไรไปตามเรื่อง) ประมาณหกโมงก็เดินออกไปลานหินโค้งครับ เพื่อให้ไปลาขอขมาพ่อแม่ญาติโยม (ท่านแนะว่าให้คุณพ่อถือบาตร คุณแม่ถือไตรจีวร แล้วก็กราบตามสมควร) ตอนขอขมานี่ก็ไม่รู้จะพูดอะไรครับ ก็ขอโทษขอขมาและจะเปลี่ยนเป็นคนใหม่หลังจากบวชเสร็จแล้ว จากนั้นก็จะเรียกตัวมาทำพิธีบรรพชา (บวชเณร) ครับ ซึ่งสามารถบวชหมู่ได้ (แต่บวชพระต้องเข้าไปทำพิธีครั้งละ 3 คนเท่านั้น) 

พิธีไม่มีอะไรซับซ้อนครับ ก็ท่องอะไรไปตามที่ซักซ้อมกันมา (บทเอสาหัง บทบรรพชา และคำขอศีล 10 ใช้ตอนนี้ครับ) เสร็จแล้วก็ทยอยไปให้พระอุปัชฌาย์คล้องสายอังสะ (เสื้อตัวในของพระ) แล้วก็เดินไปจุดเปลี่ยนชุดครับ จะมีพระอาจารย์คอยช่วยเปลี่ยนชุดจากชุดขาวเป็นจีวร จากนั้นก็เข้าไปรวมเพื่อฟังพระอุปัชฌาย์เทศน์เรื่องกัมมัฎฐานทั้งห้า (พิจารณาความไม่น่าดูของเส้นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง - ตามบทที่ท่องว่าเกสา โลมาฯ นั่นแหละครับ) เสร็จแล้วก็ให้ไปพบปะกับญาติโยมถ่ายรูปอะไรกันไปตามเรื่อง (ส่วนสามสิบท่านแรกก็จะได้เข้าไปบวชในอุโบสถก่อน) จากนั้นก็ฉันเพลกันแถวนั้น เรื่องอาหารการกินของญาติโยมไม่ต้องเป็นห่วงครับ เขามีจัดซุ้มอาหารคาว-หวานเสร็จสรรพไม่ต้องไปลำบากทำเอง (เริ่มตั้งตั้งแต่ราวๆเก้าโมงเช้า) เสร็จแล้วก็ไปลาพ่อแม่ญาติโยมให้เรียบร้อยครับ (เพราะกว่าจะเสร็จก็ค่ำๆ รุ่นผมมีด้วยกัน 175 ท่าน ก็เสร็จชุดสุดท้ายตอนเกือบตีหนึ่งกันไป) 

สำหรับสามเณรที่รอเข้าโบสถ์ไปบวช ก็จะถูกพาไปสอนนุ่งห่มจีวรแบบโปรครับ ตอนเรียนเรียกได้ว่าเกิดความท้อแท้มาก เพราะทำเท่าไหร่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ซักที แต่หัดๆลองๆไปเดี๋ยวมันจะจับเคล็ดได้เองครับไม่ยากขนาดนั้น เป็นเครื่องแบบที่ว่ากันว่าวิธีห่มนั้นมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลเลยทีเดียว

เมื่อได้เวลารอบบวชของตนก็ไปเลยครับที่อุโบสถ บรรยากาศเงียบสงบและเกร็งพอสมควร ขั้นตอนไม่มีอะไรมากครับพระอุปัชฌาย์ท่านจะแนะให้เราก่อนรอบนึงว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งคนบวชหลังๆก็คอยดูคนหน้าๆเขาทำก่อนเป็นตัวอย่างได้ครับ จากนั้นก็จะทยอยขึ้นไปชุดละสามรูป คลานเข่าเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ ท่องบทคำขอนิสสัย พระอุปัชฌาย์ก็จะบอกฉายาพระแต่ละรูป จากนั้นก็กล่าวคำบอกเครื่องบริขารต่างๆเพื่อบอกย้ำว่ามันคืออะไรไว้ทำอะไร (จีวร สังฆาฎิ สบง บาตร) เราก็ว่า "อามะภันเต" (ใช่ครับ) จากนั้นก็กราบ แล้วเดินเรียงหนึ่งตามคนซ้ายมือไปใกล้ๆประตูโบสถ์ พระคู่สวดอีกสองรูปจะมาเพื่อ "ซักซ้อม" การตอบคำถามกับพระอุปัชฌาย์ครับ โดยจะถามเริ่มจากคำว่า "กุฏฐัง?" (เป็นเรื้อนใช่มั้ย?) เราก็ตอบว่า "นัตถิภันเต" (ไม่ใช่ครับ)[1] ตอบไปเรื่อยๆจนกว่าพระท่านจะถามว่า "มนุสโสสิ?" (เป็นมนุษย์ใช่มั้ย?) อันนี้ให้ตอบรับว่า "อามะภันเต" ก็ตอบไปเรื่อยๆจนจบ จากนั้นท่านจะสวดไปเรื่อยๆจนถามว่า "กินนาโมสิ?" (เธอชื่อว่าอะไร) ก็ตอบไปว่า "อะหัง ภันเต อายัสมา (ฉายาพระ) นะมะ" ครับ เป็นอันเสร็จการซ้อมหน้าประตูโบสถ์ จากนั้นพระท่านก็จะเรียกให้เข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ ก็ท่องบทคำขออุปสมบทไป และทำซ้ำตามกระบวนการเดิมที่ซ้อมเมื่อหน้าประตูโบสถ์ก็เสร็จครับ (รอบแรกเป็นเหมือนการซ้อม รอบสองคือของจริง อย่าเผลอทะลึ่งไปตอบผิดละครับ เค้าเตะออกจากโบสถ์ไม่รู้ด้วย 55)

(ดูว่าคำแปลของ "คำถามอันตรายิกธรรม" มันคืออะไร และต้องตอบอย่างไร ตามลิงค์นี้เลยครับ http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1)

เสร็จแล้วก็ไปนั่งหลังพระอุปัชฌาย์จนเสร็จครับ ท่านก็จะมาให้โอวาทเราเกี่ยวกับอนุศาสน์ 8 (นิสสัย 4 - สิ่งที่ทำได้ไม่มีใครติเตียน กับ อกรณียกิจ 4 - สิ่งที่ห้ามทำเด็ดขาด) ซึ่งเราต้องมาเอาใจใส่สี่อย่างหลังครับ เพราะทั้งหมดอยู่ใน "ปาราชิก" (อาบัติแบบที่ขาดจากความเป็นพระทันที) ก็ให้ระวังกันไปครับ จากนั้นก็ออกมาจากโบสถ์กลับกุฎิ พระท่านก็จะสอนพินทุผ้า (ทำเครื่องหมายเฉพาะตนเพื่อไม่ให้ผ้าสลับกัน) จากนั้นก็ให้พักผ่อนตามอัธยาศัยครับ รอคอยวันแรกของการเป็นพระภิกษุต่อไป (อ้อ วันแรกยังไม่ต้องออกบิณฑบาตครับ เค้าจะฝึกห่มจีวรให้มั่นใจก่อนแล้วค่อยให้ออกบิณฑบาตในวันต่อไปครับ)

ทั้งหมดนี้คือการเตรียมตัว และรายละเอียดสำหรับวันสมัคร วันสอบ วันปลงผมและวันบวชครับ สำหรับตอนต่อไปจะเป็นรายละเอียดชีวิตความเป็นอยู่และกิจวัตรของพระนวกะ (พระบวชใหม่) กันต่อไปครับ!

Note

[1] ภาษาบาลีเป็นภาษาตระกูล Romance เหมือนกับภาษาอังกฤษ ละติน ดังนั้นจะมีบางคำที่มีที่มาเดียวกัน เช่นคำ "นัตถิ" (แปลว่า ไม่) ภาษาอังกฤษคือ "nothing" ครับ คำว่า "เม" ภาษาอังกฤษคือ "me" แปลว่าตัวฉัน เป็นต้น



6 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าวันสอบเราท่องขานนาคไม่ใด้จะใด้บวชไหมคับ
    แร้วต้องท่องทีละคนใช่ไหมคับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอโทษทีครับเพิ่งเห็น

      ท่องทีละคนครับสมัยผมบวชถ้าจำไม่ผิดนะ แนะนำว่าควรท่องให้ได้มาก่อนครับ แสดงถึงความตั้งใจอยากบวชของเรา

      ลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ24 พฤษภาคม 2561 เวลา 11:15

    ถ้าสักแบบที่จะไม่เหนอะ บวชได้มั้ย

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอโทษทีนะครับเพิ่งเห็น ถ้าสักแล้วเวลาห่มจีวรไม่เห็น สมัยรุ่นผมบวชได้ครับ

      ลบ
  3. ผมอายุ 59 จะบวชได้ไหมครับ..ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอโทษทีครับเพิ่งเห็น ผมเดาว่าได้นะครับ เพราะภัณเต 1 (พระนวกะที่บวชรุ่นเดียวกับผม แต่เป็นลำดับหนึ่งด้วยอายุ) ก็น่าจะมีอายุอย่างน้อยๆ 40+ ครับ ลองโทรสอบถามทางวัดสำหรับข้อมูลที่ถูกต้องครับ

      ลบ