วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

Collaborative Seminar as a "Group Therapy": Reflection on UK Higher Education

เข้าสู่สัปดาห์ที่ห้าของการเรียน (แต่เรียนไปสี่สัปดาห์) อาจกล่าวได้ว่าเริ่มรู้สึกปรับตัวได้บ้าง บางวิชาที่เรียนแล้วรู้สึกโอเคอยู่แล้วก็มองเห็นภาพในการเชื่อมโยงมากขึ้น (แต่บางอันก็งงมากขึ้น) บางอันที่มีอคติแต่แรก แต่พอลอง "ตั้งใจ" ค้นคว้าจริงๆและลองแสดงความคิดเห็นในคลาสก็ทำให้รู้สึกดีขึ้นมา "นิดนึง"

จากประสบการณ์นี้เองที่ทำให้เกิดความคิดแวบขึ้นมาระหว่างเดินกลับหอว่า หรือจริงๆแล้วการเรียนการสอนของที่นี่ (อังกฤษ) นั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับการสร้างกลุ่มบำบัด (Group Therapy) ของผู้ป่วยในอาการต่างๆ เพราะแม้ว่าแนวคิดนี้จะดูเหมือนคนละเรื่องกับการเรียนในมหาวิทยาลัย แต่เอาจริงๆโดยส่วนตัวกลับคิดว่ามันเหมือนกัน และอาจมีกลไกการทำงานอะไรบางอย่างใกล้เคียงกัน

*******

แล้วกลุ่มบำบัดคืออะไร? แล้วการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยอังกฤษเป็นอย่างไรเล่า?

กลุ่มบำบัดคือ การใช้การพูดคุยในหมู่คณะเพื่อบำบัดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีมากกว่าสภาวะที่เคยเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการให้กำลังใจ (ว่ายังมีคนฟังคุณอยู่ตรงนี้) หรือชี้ให้เห็นถึงทางแก้ไขปัญหา (ซึ่งอาจจะคิดเองไม่ออกเพราะปัญหาหลายๆอย่าง) ซึ่งกลุ่มบำบัดนี้ใช้กันทั้งในการบำบัดยาเสพติด โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ทั้งทางกายและทางจิต โดยหลักคือใช้กลไกทางจิตวิทยาเพื่อช่วยให้ผู้รับการบำบัด "รู้สึก" ดีขึ้น

อย่างน้อยๆให้ใช้ชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิมละกัน

ขณะที่การเรียนการสอนของอังกฤษนั้นวางบนสมมติฐานที่ว่า ผู้เรียนนั้นจะได้รับความรู้ก็ต่อเมื่อ "ขวนขวาย" ค้นคว้าหาความรู้กันมา แล้วเข้ามาพูดคุยถกเถียงด้วยกัน โดยกระบวนการนี้จะยิ่งเข้มข้นขึ้นในคลาสเรียนระดับปริญญาโทขึ้นไป ด้วยสมมติฐานที่ว่าความรู้ของแต่ละคนนั้นจะมีกระบวนการ "ถอนรากถอนโคน" (Deconstruction) ความรู้/ความเชื่อเดิมๆที่เคยมีมา และมีกระบวนการ "สร้างเสริมเติมแต่ง" (Reconstruction) ความรู้ใหม่ที่มาแทนที่ความรู้ชุดเก่า กระบวนการทั้งสองนี้จะทำงานไปเรื่อยๆจนกระทั่งจบหลักสูตรวิชานั้นๆ (หรืออาจจะได้อิทธิพลจากวิธีการคิดแบบนี้กลับไปด้วย)

ตัวอย่างเช่น เราอาจคิดว่าประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่พอเราเข้าคลาสเจอการถกเถียงกลับมาจนทำให้เราโต้แย้งไม่ได้ พอกลับไปค้นคว้าเพื่อมาพิสูจน์ก็ไม่เจออีก และเมื่อเข้าไปอีกครั้งก็มีคนเสนอความเห็นอย่างน่าฟังว่า อืม แม้ว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนจะมีช่องโหว่เยอะ แต่การเลือกตั้งก็ถือเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำสุดในสังคมปัจจุบัน เพราะไม่อย่างนั้นคุณจะหาวิธี "เกณฑ์" คนมาทำงานสาธารณะในฐานะตัวแทนของคุณได้ยังไงละ? (หรือคุณอยากให้ตัวแทนของคุณ ถูกเลือกโดยใครก็ไม่รู้ ซึ่งก็ไม่รู้อีกว่าใครก็ไม่รู้คนนั้นใครเลือกมาอีก ฯลฯ)

ทีนี้เมื่อกลับมาค้นคว้าอีกก็พบว่า อืม ที่ไอหมอนี่พูดมันเข้าท่าเว้ย อ่านไปอ่านมาเจอคนเขียนโจมตีจุดบกพร่องของประชาธิปไตยแบบตัวแทนเยอะแฮะ แต่ว่าแต่ไอแบบตัวแทนมันคืออะไรหว่า? ต่างจากแบบอื่นตรงไหน? แล้วอะไรที่มาช่วยเสริมให้แบบตัวแทนมันทำงานดีขึ้น? ทีนี้แหละคุณเอ้ย เราก็จะเริ่มอยากค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง เพื่อตอบคำถามคาใจที่ตัวเอง (และอาจได้รับอิทธิพลจากคำถามหรือความคิดของคนอื่นๆ) และเมื่อตอบไปเรื่อยๆในคลาส ก็อาจถูกท้าทายมาได้เรื่อยๆ เราก็มีหน้าที่ค้นคว้าต่อไป จนกระทั่งถึงจุดที่คุณสามารถปกป้องจุดยืนของคุณได้โดยดุษฎี นี่แหละครับกระบวนการเรียนรู้ในการศึกษาของที่นี่ละ (ซึ่งวัดผลด้วยการเขียนความเรียงขนาดกลางในท้ายวิชา)

แต่ความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น มีปัจจัยต่างๆมากมายที่ทำให้คุณไม่รู้สึกแบบนี้ เช่น เป้าหมายของคุณคือมาเที่ยวและได้ปริญญากลับบ้านแถมไปสมัครงานดีๆต่อ หรือบางทีคุณโชคร้ายต้องมาเรียนวิชาที่คุณไม่ชอบเอาเสียเลย บางทีเพื่อนร่วมชั้นของคุณ (และคุณเอง) ก็ขี้เกียจอ่านหนังสือมาถกกัน หรืออาจจะเลยเถิดถึงขนาดที่อาจารย์ของคุณอาจส่งลิสต์ชื่อหนังสือต่างๆที่มันไม่ได้ปูพื้นฐานความรู้ให้คุณเพราะคาดเดาว่าคุณน่าจะมีพื้นฐานอยู่แล้ว (แต่เฮ้ยผมมาจากประเทศโลกที่สามนะครับ!) ฯลฯ ทั้งหมดนี้สรุปรวมได้ว่ามันอาจทำให้คุณ "เซ็ง" จากการเรียนแบบสัมมนาก็ได้ เพราะส่วนใหญ่แล้ว (ผมเองด้วย) ชินกับการเรียนด้วยการรออ้าปากรับความรู้จากอาจารย์ ขอแค่อาจารย์บอกมา เมื่อเข้าใจลึกขึ้นผมจะถกเถียงเรื่องอื่นๆได้ง่ายขึ้น ต่อยอดความคิดได้ดีขึ้น หรือไม่ผมจะไปตามอ่านงานชิ้นนั้นที่อาจารย์บอกว่าดี ฯลฯ

แล้วมันเกี่ยวกันยังไงกับกลุ่มบำบัดฟระ?

*******

ความเกี่ยวข้องกันเกิดจากประสบการณ์คาบเรียนที่ผมไม่ได้มีโอกาสร่วมถกเถียงกับคนอื่นๆเลย สืบเนื่องจากว่าผมฟังภาษาอังกฤษจากฝรั่งไม่ออก และความไม่กล้าขัดจังหวะถามกลับไปว่าตกลงคุณพูดว่าอะไรนะ? เลยทำให้เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง เลยทำให้ไม่กล้าพูด (ผิดกับสองวิชาอื่นที่ฝรั่งน้อยมาก เลยกล้าพูดกล้าคุย) และด้วยอคติส่วนตัวกับลักษณะการสอน (และลิสต์หนังสือที่ไม่ได้ช่วยให้เข้าใจความเชื่อมโยงของเรื่องที่จะเรียนในแต่ละสัปดาห์ - คือไม่มีงานพื้นฐานเลย มีแต่งานระดับเทพที่มีความพยายามสรุปงานพื้นฐานของคนอื่นๆในแวดวงมา แต่มันคร่าวมาก ไม่เก็ทอ่า) จนเกิดความขี้เกียจส่วนตัวในการอ่านงาน ไปจนถึงความพยายามในการจะร่วมวงสนทนาแต่กลับมีอีกคนเสนอความคิดเห็นแบบที่เรากำลังจะเสนอไปในบางคลาส ทั้งหมดนี้ทำให้แอบรู้สึกเฟลกับการเรียนวิชานี้จริงๆ (และผมเชื่อว่าหลายคนที่มาเรียนที่อังกฤษแล้วไม่มีโอกาสแทรกเข้าวงสนทนานี่มันคงหดหู่ไม่ใช่เล่น)

แต่พอมีโอกาสได้ทำงานนำเสนอในหัวข้อเรียนนั้นๆกลับพบว่า สามารถเข้าร่วมวงสนทนาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ยิ่งไปกว่านั้น การเข้าร่วมวงสนทนานั้นก็เป็นการสนทนาที่สุโค่ยมากๆ เพราะในฐานะที่เราอ่านงานมาอย่างเอาเป็นเอาตาย (และกว่าครึ่งที่อ่านมาจากงานพื้นฐานที่ไม่ได้อยู่ในลิสต์รายชื่องานวิชาการที่อาจารย์ส่งมา) เลยกลายเป็นว่าเรามีโอกาสพัฒนาแนวคิดต่างๆ และร่วมวงถกเถียงอย่างสนุกสนาน และเป็นบทเรียนที่ทำให้เรารู้ว่า บางทีบางคนอาจรู้เรื่องบางอย่างดีมากเลยสามารถถกเถียงในสัปดาห์นั้นอย่างดี แต่พออีกสัปดาห์กลับมีคนอื่นทำได้ดีกว่า ตรงนี้เลยเป็นบทเรียนสำคัญเลยว่า ฝรั่งไม่ได้เก่งไปทุกอย่าง คนเหมือนกัน มีเก่งมีไม่เก่งเท่าๆกันแหละ เลยรู้สึกโล่งขึ้น

เห็นอะไรในนี้มั้ย?

ตอนแรกที่ไม่มีโอกาสพูดในวงสนทนาก็รู้สึกอึดอัด แต่พอมีโอกาสร่วมวงแล้วก็รู้สึกผ่อนคลาย (และฟิน - ถ้าเราสามารถสร้างข้อถกเถียงที่คนอื่นๆยังไม่สามารถหักล้างเราได้ จนกระทั่งต้องให้อาจารย์ออกโรง - ซึ่งยิ่งฟินไปใหญ่เพราะนอกจากบอสใหญ่มาเองแล้ว เรายังได้ประเด็นกลับไปคิดค้นต่อมาฟรีๆอีกด้วย) กลไกการทำงานมันเหมือนกับกลุ่มบำบัดเลยอะ ประมาณว่าเมื่อเราได้โอกาสพูดในหมู่คนที่ฟังเรา และมีคนตอบโต้เรา มันเป็นสภาวะอะไรสักอย่างที่สร้างความรู้สึกว่า เห้ย ฉันได้ระบายความในใจของฉันไปแล้วนะ จะถูกจะผิดฉันได้ระบายไปแล้ว และเมื่อมีคนตอบโต้กลับมามันทำให้ฉันรู้สึกว่า เห้ย สิ่งที่ฉันพูดไปมีคนฟัง มีคนสนใจ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงการถกเถียงหรือการสร้างเสริมกำลังใจ และพอมีกำลังใจก็จะมีแรงผลักดันให้เชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้ถูกแล้ว ก็ทำต่อไปเรื่อยๆภายใต้แรงผลักดันตัวนี้ ผมว่ามันมีอะไรบางอย่างคล้ายๆกันซ้อนทับเหลื่อมอยู่ระหว่างสองสิ่งนี้นะ

*******

ในกลุ่มบำบัด ขอแค่คุณ "เปิดใจ" พูดกับคนอื่นๆออกไป ฉันใดก็ฉันนั้น การเรียนสัมมนาก็ต้องทำในลักษณะเดียวกัน แต่ก่อนจะทำแบบนั้นได้ การค้นคว้าด้วยตนเองจึงสำคัญ และไม่ว่าอาจารย์จะแนบงานพื้นฐานให้คุณหรือไม่ ประเด็นสำคัญกว่าคือคุณจะสร้างลิสต์ที่ต้องอ่านของคุณเองยังไงเพื่อจะได้เข้าใจวิชาเรียนให้มากขึ้น และจะค้นคว้ายังไงให้สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่อาจารย์คุณให้อ่านกับสิ่งที่คุณค้นคว้ามาอย่างไร ตรงนี้แหละที่จะทำให้คุณพร้อมสำหรับการ "เปิดใจ" ในโอกาสต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม หากมองกลับมาในมุมของการเป็นอาจารย์แล้วก็ควรต้องทบทวนด้วยว่า นักเรียนเองมีความสามารถสร้างลิสต์การอ่านของตัวเองได้โดยที่ไม่มีพื้นฐานในเรื่องที่เรียนอยู่หรือไม่? ตรงนี้อาจเป็นโจทย์ที่ตัวอาจารย์เองสามารถกำหนดได้ ตลอดจนประสบการณ์การถูกบังคับให้ทำงานนำเสนอนี้ก็อาจบอกได้ว่าวิธีการบังคับให้ทำชิ้นงานก็ยังคงเป็นอะไรที่มีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งก็น่าสนใจเหมือนกันว่าจะทำอย่างไร

ว่าแต่ไปพักผ่อนก่อนเตรียมพร้อมสำหรับการ "เปิดใจ" ครั้งต่อไปก่อนละกัน