วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

Collaborative Seminar as a "Group Therapy": Reflection on UK Higher Education

เข้าสู่สัปดาห์ที่ห้าของการเรียน (แต่เรียนไปสี่สัปดาห์) อาจกล่าวได้ว่าเริ่มรู้สึกปรับตัวได้บ้าง บางวิชาที่เรียนแล้วรู้สึกโอเคอยู่แล้วก็มองเห็นภาพในการเชื่อมโยงมากขึ้น (แต่บางอันก็งงมากขึ้น) บางอันที่มีอคติแต่แรก แต่พอลอง "ตั้งใจ" ค้นคว้าจริงๆและลองแสดงความคิดเห็นในคลาสก็ทำให้รู้สึกดีขึ้นมา "นิดนึง"

จากประสบการณ์นี้เองที่ทำให้เกิดความคิดแวบขึ้นมาระหว่างเดินกลับหอว่า หรือจริงๆแล้วการเรียนการสอนของที่นี่ (อังกฤษ) นั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับการสร้างกลุ่มบำบัด (Group Therapy) ของผู้ป่วยในอาการต่างๆ เพราะแม้ว่าแนวคิดนี้จะดูเหมือนคนละเรื่องกับการเรียนในมหาวิทยาลัย แต่เอาจริงๆโดยส่วนตัวกลับคิดว่ามันเหมือนกัน และอาจมีกลไกการทำงานอะไรบางอย่างใกล้เคียงกัน

*******

แล้วกลุ่มบำบัดคืออะไร? แล้วการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยอังกฤษเป็นอย่างไรเล่า?

กลุ่มบำบัดคือ การใช้การพูดคุยในหมู่คณะเพื่อบำบัดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีมากกว่าสภาวะที่เคยเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการให้กำลังใจ (ว่ายังมีคนฟังคุณอยู่ตรงนี้) หรือชี้ให้เห็นถึงทางแก้ไขปัญหา (ซึ่งอาจจะคิดเองไม่ออกเพราะปัญหาหลายๆอย่าง) ซึ่งกลุ่มบำบัดนี้ใช้กันทั้งในการบำบัดยาเสพติด โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ทั้งทางกายและทางจิต โดยหลักคือใช้กลไกทางจิตวิทยาเพื่อช่วยให้ผู้รับการบำบัด "รู้สึก" ดีขึ้น

อย่างน้อยๆให้ใช้ชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิมละกัน

ขณะที่การเรียนการสอนของอังกฤษนั้นวางบนสมมติฐานที่ว่า ผู้เรียนนั้นจะได้รับความรู้ก็ต่อเมื่อ "ขวนขวาย" ค้นคว้าหาความรู้กันมา แล้วเข้ามาพูดคุยถกเถียงด้วยกัน โดยกระบวนการนี้จะยิ่งเข้มข้นขึ้นในคลาสเรียนระดับปริญญาโทขึ้นไป ด้วยสมมติฐานที่ว่าความรู้ของแต่ละคนนั้นจะมีกระบวนการ "ถอนรากถอนโคน" (Deconstruction) ความรู้/ความเชื่อเดิมๆที่เคยมีมา และมีกระบวนการ "สร้างเสริมเติมแต่ง" (Reconstruction) ความรู้ใหม่ที่มาแทนที่ความรู้ชุดเก่า กระบวนการทั้งสองนี้จะทำงานไปเรื่อยๆจนกระทั่งจบหลักสูตรวิชานั้นๆ (หรืออาจจะได้อิทธิพลจากวิธีการคิดแบบนี้กลับไปด้วย)

ตัวอย่างเช่น เราอาจคิดว่าประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่พอเราเข้าคลาสเจอการถกเถียงกลับมาจนทำให้เราโต้แย้งไม่ได้ พอกลับไปค้นคว้าเพื่อมาพิสูจน์ก็ไม่เจออีก และเมื่อเข้าไปอีกครั้งก็มีคนเสนอความเห็นอย่างน่าฟังว่า อืม แม้ว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนจะมีช่องโหว่เยอะ แต่การเลือกตั้งก็ถือเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำสุดในสังคมปัจจุบัน เพราะไม่อย่างนั้นคุณจะหาวิธี "เกณฑ์" คนมาทำงานสาธารณะในฐานะตัวแทนของคุณได้ยังไงละ? (หรือคุณอยากให้ตัวแทนของคุณ ถูกเลือกโดยใครก็ไม่รู้ ซึ่งก็ไม่รู้อีกว่าใครก็ไม่รู้คนนั้นใครเลือกมาอีก ฯลฯ)

ทีนี้เมื่อกลับมาค้นคว้าอีกก็พบว่า อืม ที่ไอหมอนี่พูดมันเข้าท่าเว้ย อ่านไปอ่านมาเจอคนเขียนโจมตีจุดบกพร่องของประชาธิปไตยแบบตัวแทนเยอะแฮะ แต่ว่าแต่ไอแบบตัวแทนมันคืออะไรหว่า? ต่างจากแบบอื่นตรงไหน? แล้วอะไรที่มาช่วยเสริมให้แบบตัวแทนมันทำงานดีขึ้น? ทีนี้แหละคุณเอ้ย เราก็จะเริ่มอยากค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง เพื่อตอบคำถามคาใจที่ตัวเอง (และอาจได้รับอิทธิพลจากคำถามหรือความคิดของคนอื่นๆ) และเมื่อตอบไปเรื่อยๆในคลาส ก็อาจถูกท้าทายมาได้เรื่อยๆ เราก็มีหน้าที่ค้นคว้าต่อไป จนกระทั่งถึงจุดที่คุณสามารถปกป้องจุดยืนของคุณได้โดยดุษฎี นี่แหละครับกระบวนการเรียนรู้ในการศึกษาของที่นี่ละ (ซึ่งวัดผลด้วยการเขียนความเรียงขนาดกลางในท้ายวิชา)

แต่ความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น มีปัจจัยต่างๆมากมายที่ทำให้คุณไม่รู้สึกแบบนี้ เช่น เป้าหมายของคุณคือมาเที่ยวและได้ปริญญากลับบ้านแถมไปสมัครงานดีๆต่อ หรือบางทีคุณโชคร้ายต้องมาเรียนวิชาที่คุณไม่ชอบเอาเสียเลย บางทีเพื่อนร่วมชั้นของคุณ (และคุณเอง) ก็ขี้เกียจอ่านหนังสือมาถกกัน หรืออาจจะเลยเถิดถึงขนาดที่อาจารย์ของคุณอาจส่งลิสต์ชื่อหนังสือต่างๆที่มันไม่ได้ปูพื้นฐานความรู้ให้คุณเพราะคาดเดาว่าคุณน่าจะมีพื้นฐานอยู่แล้ว (แต่เฮ้ยผมมาจากประเทศโลกที่สามนะครับ!) ฯลฯ ทั้งหมดนี้สรุปรวมได้ว่ามันอาจทำให้คุณ "เซ็ง" จากการเรียนแบบสัมมนาก็ได้ เพราะส่วนใหญ่แล้ว (ผมเองด้วย) ชินกับการเรียนด้วยการรออ้าปากรับความรู้จากอาจารย์ ขอแค่อาจารย์บอกมา เมื่อเข้าใจลึกขึ้นผมจะถกเถียงเรื่องอื่นๆได้ง่ายขึ้น ต่อยอดความคิดได้ดีขึ้น หรือไม่ผมจะไปตามอ่านงานชิ้นนั้นที่อาจารย์บอกว่าดี ฯลฯ

แล้วมันเกี่ยวกันยังไงกับกลุ่มบำบัดฟระ?

*******

ความเกี่ยวข้องกันเกิดจากประสบการณ์คาบเรียนที่ผมไม่ได้มีโอกาสร่วมถกเถียงกับคนอื่นๆเลย สืบเนื่องจากว่าผมฟังภาษาอังกฤษจากฝรั่งไม่ออก และความไม่กล้าขัดจังหวะถามกลับไปว่าตกลงคุณพูดว่าอะไรนะ? เลยทำให้เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง เลยทำให้ไม่กล้าพูด (ผิดกับสองวิชาอื่นที่ฝรั่งน้อยมาก เลยกล้าพูดกล้าคุย) และด้วยอคติส่วนตัวกับลักษณะการสอน (และลิสต์หนังสือที่ไม่ได้ช่วยให้เข้าใจความเชื่อมโยงของเรื่องที่จะเรียนในแต่ละสัปดาห์ - คือไม่มีงานพื้นฐานเลย มีแต่งานระดับเทพที่มีความพยายามสรุปงานพื้นฐานของคนอื่นๆในแวดวงมา แต่มันคร่าวมาก ไม่เก็ทอ่า) จนเกิดความขี้เกียจส่วนตัวในการอ่านงาน ไปจนถึงความพยายามในการจะร่วมวงสนทนาแต่กลับมีอีกคนเสนอความคิดเห็นแบบที่เรากำลังจะเสนอไปในบางคลาส ทั้งหมดนี้ทำให้แอบรู้สึกเฟลกับการเรียนวิชานี้จริงๆ (และผมเชื่อว่าหลายคนที่มาเรียนที่อังกฤษแล้วไม่มีโอกาสแทรกเข้าวงสนทนานี่มันคงหดหู่ไม่ใช่เล่น)

แต่พอมีโอกาสได้ทำงานนำเสนอในหัวข้อเรียนนั้นๆกลับพบว่า สามารถเข้าร่วมวงสนทนาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ยิ่งไปกว่านั้น การเข้าร่วมวงสนทนานั้นก็เป็นการสนทนาที่สุโค่ยมากๆ เพราะในฐานะที่เราอ่านงานมาอย่างเอาเป็นเอาตาย (และกว่าครึ่งที่อ่านมาจากงานพื้นฐานที่ไม่ได้อยู่ในลิสต์รายชื่องานวิชาการที่อาจารย์ส่งมา) เลยกลายเป็นว่าเรามีโอกาสพัฒนาแนวคิดต่างๆ และร่วมวงถกเถียงอย่างสนุกสนาน และเป็นบทเรียนที่ทำให้เรารู้ว่า บางทีบางคนอาจรู้เรื่องบางอย่างดีมากเลยสามารถถกเถียงในสัปดาห์นั้นอย่างดี แต่พออีกสัปดาห์กลับมีคนอื่นทำได้ดีกว่า ตรงนี้เลยเป็นบทเรียนสำคัญเลยว่า ฝรั่งไม่ได้เก่งไปทุกอย่าง คนเหมือนกัน มีเก่งมีไม่เก่งเท่าๆกันแหละ เลยรู้สึกโล่งขึ้น

เห็นอะไรในนี้มั้ย?

ตอนแรกที่ไม่มีโอกาสพูดในวงสนทนาก็รู้สึกอึดอัด แต่พอมีโอกาสร่วมวงแล้วก็รู้สึกผ่อนคลาย (และฟิน - ถ้าเราสามารถสร้างข้อถกเถียงที่คนอื่นๆยังไม่สามารถหักล้างเราได้ จนกระทั่งต้องให้อาจารย์ออกโรง - ซึ่งยิ่งฟินไปใหญ่เพราะนอกจากบอสใหญ่มาเองแล้ว เรายังได้ประเด็นกลับไปคิดค้นต่อมาฟรีๆอีกด้วย) กลไกการทำงานมันเหมือนกับกลุ่มบำบัดเลยอะ ประมาณว่าเมื่อเราได้โอกาสพูดในหมู่คนที่ฟังเรา และมีคนตอบโต้เรา มันเป็นสภาวะอะไรสักอย่างที่สร้างความรู้สึกว่า เห้ย ฉันได้ระบายความในใจของฉันไปแล้วนะ จะถูกจะผิดฉันได้ระบายไปแล้ว และเมื่อมีคนตอบโต้กลับมามันทำให้ฉันรู้สึกว่า เห้ย สิ่งที่ฉันพูดไปมีคนฟัง มีคนสนใจ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงการถกเถียงหรือการสร้างเสริมกำลังใจ และพอมีกำลังใจก็จะมีแรงผลักดันให้เชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้ถูกแล้ว ก็ทำต่อไปเรื่อยๆภายใต้แรงผลักดันตัวนี้ ผมว่ามันมีอะไรบางอย่างคล้ายๆกันซ้อนทับเหลื่อมอยู่ระหว่างสองสิ่งนี้นะ

*******

ในกลุ่มบำบัด ขอแค่คุณ "เปิดใจ" พูดกับคนอื่นๆออกไป ฉันใดก็ฉันนั้น การเรียนสัมมนาก็ต้องทำในลักษณะเดียวกัน แต่ก่อนจะทำแบบนั้นได้ การค้นคว้าด้วยตนเองจึงสำคัญ และไม่ว่าอาจารย์จะแนบงานพื้นฐานให้คุณหรือไม่ ประเด็นสำคัญกว่าคือคุณจะสร้างลิสต์ที่ต้องอ่านของคุณเองยังไงเพื่อจะได้เข้าใจวิชาเรียนให้มากขึ้น และจะค้นคว้ายังไงให้สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่อาจารย์คุณให้อ่านกับสิ่งที่คุณค้นคว้ามาอย่างไร ตรงนี้แหละที่จะทำให้คุณพร้อมสำหรับการ "เปิดใจ" ในโอกาสต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม หากมองกลับมาในมุมของการเป็นอาจารย์แล้วก็ควรต้องทบทวนด้วยว่า นักเรียนเองมีความสามารถสร้างลิสต์การอ่านของตัวเองได้โดยที่ไม่มีพื้นฐานในเรื่องที่เรียนอยู่หรือไม่? ตรงนี้อาจเป็นโจทย์ที่ตัวอาจารย์เองสามารถกำหนดได้ ตลอดจนประสบการณ์การถูกบังคับให้ทำงานนำเสนอนี้ก็อาจบอกได้ว่าวิธีการบังคับให้ทำชิ้นงานก็ยังคงเป็นอะไรที่มีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งก็น่าสนใจเหมือนกันว่าจะทำอย่างไร

ว่าแต่ไปพักผ่อนก่อนเตรียมพร้อมสำหรับการ "เปิดใจ" ครั้งต่อไปก่อนละกัน

วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ทำไมเราจึงควรรู้ธรรมะสุดท้ายของพระพุทธเจ้า?

หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิโว - ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนทั้งทั้งหลายว่า
วะยะธัมมา สังขารา - สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
อัปมาเทนะ สัมปาเทถะ - ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมาวาจา - นี้เป็นพระวาจามีในครั้งสุดท้าย ของพระตถาคตเจ้า
         ปัจฉิมพุทโธวาท (โอวาทสุดท้ายของพระพุทธเจ้า) (สวดมนต์แปลแบบสวนโมกข์, 33)
ถ้าจะถามว่าไปบวชเรียนมาแล้ว ได้ธรรมะอะไรติดมามากที่สุด ก็สามารถกล่าวได้ว่าบทปัจฉิมพุทโธวาทนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สุด และจำบทสวดและแปลได้อย่างแม่นยำมากทีเดียว

แต่ทำไมเราถึงควรรู้ละ? แล้วมันสำคัญไฉน? ทำไมไม่พูดเรื่องหลักธรรมสำคัญอื่นๆ อย่างเช่นอริยสัจ 4 มรรคมีองค์ 8 หรือโอวาทปาฎิโมกข์กันนะ?

คำตอบง่ายๆคือ ผมยังไม่มีปัญญาแก่กล้าจะไปอธิบายเรื่องที่ผมยังไม่เข้าใจได้ถ่องแท้แบบนั้นครับ แหะๆ อุปมาเหมือนกับว่าเรียนมายังไม่ครบคอร์ส เรียนมาแค่ทฤษฎี แต่ภาคปฏิบัติยังไม่มี

และที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดคือ ในความเห็นของผมแล้ว (อาจจะผิดก็ได้นะครับ) สิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสทิ้งไว้ก่อนดับขันธ์ปรินิพพานไป น่าจะเป็นจุดตั้งต้นในการทำความเข้าใจถึงความสำคัญของการศึกษาและปฏิบัติธรรม เพราะถ้าเราเข้าใจจุดนี้แล้ว ผมเชื่อว่าน่าจะช่วยสร้างศรัทธาต่อการปฏิบัติในกาลต่อไป ไม่ว่าจะปฏิบัติเพื่อมุ่งยังความหลุดพ้น หรือกระทั่งการเปลี่ยนแปลงนิสัยส่วนตัวของเราได้ไม่มากก็น้อยทีเดียวครับ

พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่าอะไร?

ในพระพุทธวจนสุดท้ายนี้ สิ่งที่พระองค์ท่านตรัสสอนนั้นฟังดูเรียบง่ายมาก แต่จริงๆนั่นคือแก่นหลักธรรมที่พระองค์สรุปเอาไว้ในประโยคเดียว ซึ่งอาจแปลแบบลวกๆได้ว่า "สังขารทั้งปวงนี้ไม่เที่ยง ดังนั้น ท่านจงไม่ประมาทเถิด"

การแปลแบบข้างบนนี้แบบเรียนพุทธในโรงเรียนมัธยมทั้งหลายเขาเรียนกันอย่างนี้ และท่องเพื่อเอาไปตอบข้อสอบว่า ธรรมะสุดท้ายที่พระองค์สอนนั้น คือ "อัปมาทธรรม" ซึ่งว่าด้วยความไม่ประมาท

ว่าแต่ไม่ประมาทอะไรครับ?

ตรงนี้เป็นช่องโหว่ที่ข้อสอบ (และหนังสือเรียน) ไม่ได้ตอบคำถามว่า อืม ไม่ประมาทอย่างไร? เหมือนกับอย่าประมาทในการขับรถหรือเปล่า? ทำให้ผู้เรียนอย่างเราๆท่านๆ ก็ท่องจำไปตอบข้อสอบโดยไม่รู้ว่าตกลงไม่ประมาทอะไรกันนะ และพาลหลงลืมธรรมะข้อนี้ไปเสีย

ต่อคำถามในข้อนี้นั้น พระอาจารย์ท่านหนึ่งได้สอนว่า การ "ยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม" จริงๆความหมายก็คือ "จงทำให้ความไม่ประมาทเกิดขึ้น" (ซึ่งหมายความว่า ความไม่ประมาทตอนแรกเนี่ย เรายังไม่มีหรอก เราใช้ชีวิตกันอย่างประมาททั้งนั้น จึงต้องทำให้มันเกิดขึ้น)

สรุปสั้นๆเลยก็คือ "จงมีสติทุกเมื่อ" นั่นเอง!

*******

ถามต่อไปอีกว่า แล้วทำไมถึงต้องมีสติทุกเมื่อเล่า?

คำตอบก็คือ เพราะเราควรที่จะทำอะไรซักอย่างเพื่อหลุดพ้นไปจากวัฏสงสารอันน่าเบื่อหน่ายนี้ การมุ่งเพื่อความหลุดพ้นคือแก่นพระพุทธศาสนา ไม่ใช่การทำบุญทำทานเพื่อหวังจะไปเป็นเทวดาในชาติหน้า (พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มนุษย์เราเกิดมาเนี่ยต่างคนต่างก็ได้เป็นพ่อแม่ ลูก เพื่อน คู่ชีวิต ของคนอื่นๆมานับไม่ถ้วน เวียนไปเวียนมาไม่สิ้นสุด) ต่อให้ได้ไปเสวยสุขในสุคติภูมิ (โลกมนุษย์ สวรรค์ พรหมโลก) ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะไปตกอยู่ในอบายภูมิได้ (นรก เปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน) วนเวียนไปไม่สิ้นสุด

ยัง ยังไม่พอ ถ้าเวียนไปเวียนมาแล้วจับพลัดจับผลูมีชาตินึงเกิดเป็นมนุษย์ เผลอไปฆ่าเจ้ากรรมนายเวรตัวเองที่มาเกิดเป็นพ่อแม่ตน ก็ถือว่าประมาทจนก่ออนันตริยกรรมเกิดขึ้น (กรรมหนักที่สุดในกระบวนกรรมทั้งหมด) ลองคิดดูเอาว่าจะต้องตามไปเสวยทุกขเวทนากันขนาดไหน

ทั้งหมดนี้เกิดจากการที่เราประมาทในชีวิต ประมาทว่ามันคงไม่มีอะไรแบบนี้หรอก หรือประมาทว่ายังเหลือเวลาอีกเยอะ ไว้แก่แล้วค่อยมาคิดเรื่องพวกนี้

จริงๆสุดท้ายแล้ว พระพุทธเจ้าท่านหวังให้สัตว์โลกได้มีโอกาส "เจริญสติ" เพื่อเป็นเหตุให้ใกล้กับปัญญาในการพิจารณาความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง และความไม่มีตัวตนของสรรพสิ่ง เพื่อความหลุดพ้น ซึ่งการเจริญสตินี้ถือได้ว่าเป็นการไม่ประมาทในชีวิต เหมือนเป็นหลักประกันได้ว่าถ้าท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ด้วยการมีศรัทธา มีศีล และปฏิบัติจริงๆจังๆแล้ว ก็จะไม่ต้องลงไป "วัดดวง" ในอบายภูมิ และวนเวียนอยู่แต่ในสุคติภูมิจนกว่าจะได้หลุดพ้นกันจริงๆ (เช่น พระโสดาบัน)

ดังนั้น ที่ต้องมีสติก็เพื่อมิให้เผลอไผลไหลตามวงเวียนชีวิตเหล่านี้ และจะดียิ่งถ้าพยายามฝึกให้ได้ตลอดเวลา

Countdown ชีวิต

เมื่อกี้เพิ่งอธิบายแค่ท่อน "ไม่ประมาท" เท่านั้นครับ ยังไม่ได้อธิบายท่อน "สังขารมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา" เลย

พูดง่ายๆก็คือ สังขาร (ร่ายกาย จิตใจ) ของเราทุกวันนี้ มันมีเกิดดับตลอดเวลา และจะตายวันตายพรุ่งก็ยังไม่รู้

ขอให้ลองนึกดูเอาไว้ในทุกวันเกิดของเรา นอกจากจะเป็นวันรำลึกการเฉียดตายของคุณแม่ของเราแล้ว ก็ยังเป็นวันที่ชวนให้เรานึกถึง "เวลาที่ยังเหลือ" ของพวกเราอีกด้วย

เปรียบเหมือนนาฬิกาจับเวลา เราเหลือเวลากันน้อยลงทุกทีๆไปแล้ว เหมือนกับที่ท่านสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชท่านได้เขียนเอาไว้ในหนังสือเล่มบางๆน่ารัก ชื่อ "ชีวิตนี้น้อยนัก" ว่า ชีวิตมนุษย์นี้สั้นนัก พวกเราได้ทำอะไรดีๆเอาไว้กันบ้างหรือยังนะ?

เมื่อเราเข้าใจความหมายของท่อน "สังขารไม่เที่ยง" และ "จงมีสติอยู่เสมอ" แล้ว ก็จะเข้าใจได้ในทันทีว่า ที่พระพุทธองค์พูดมานั้น ชอบแล้วด้วยเหตุผล ชอบแล้วด้วยการโน้มน้าวบุคคลให้ใฝ่หาทางหลุดพ้น!

"เพราะชีวิตทุกวันนี้เหลืออยู่น้อยนัก ก็จงรีบเจริญสติกันเถิด เพราะหลังจากนี้ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันในชีวิตได้อีกแล้วว่าจะไปเจออะไรหลังจากสิ้นลมกันไปแล้ว!"

*******

ถ้าดูในพระพุทธวจนะ (คำสอนจากพระโอษฐ์) ของพระพุทธเจ้าก็จะพบว่า พระองค์พูดถึงความน่ากลัวของความประมาทนี้ ผ่านการพูดถึงความยากลำบากในการเกิดมาเป็นมนุษย์!

- ท่านตรัสว่า อันปกติมนุษย์ที่บังเกิดมาแล้วนั้น มีอยู่เพียงฝุ่นธุลีดินจากทั่วทั้งพื้นปฐพีบนโลก ที่จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง! (สรุปจาก อริยสัจจากพระโอษฐ์ภาคต้น, พุทธทาสภิกขุและกองตำราคณะธรรมทาน, 7)

- ท่านตรัสว่า การบังเกิดขึ้นเป็นมนุษย์ของสัตว์จำพวกวินิบาต (สัตว์ที่ห้ำหั่นเคี้ยวกินกันเอง) นั้นยากนัก ยากยิ่งกว่าโอกาสที่เต่าตาบอดกลางมหาสมุทรที่ร้อยปีจะโผล่หัวมาพ้นน้ำสักที แล้วจะเอาหัวนั้นเข้าไปในกระบอกไม้ไผ่ที่ลอยเคว้งอยู่กลางมหาสมุทรนั้น! (สรุปจาก อริยสัจจากพระโอษฐ์ภาคต้น, พุทธทาสภิกขุและกองตำราคณะธรรมทาน, 101 - 102)

แล้วน่ากลัวอย่างไรเล่า - บางคนอาจจะคิดอย่างนั้น (เพราะบางคนอาจไปเสวยบุญเป็นเทวดา พรหม นิ)

ที่มันน่ากลัวก็เพราะอย่างที่บอกไปแล้ว ไปเป็นเทวดาหรือพรหม พอหมดบุญก็จะต้องไปภพภูมิอื่น อย่างดีก็เป็นมนุษย์ อย่างเลวก็อบายภูมิ ก็วนเวียนไปแบบงงๆต่อไป น่าเสียดายโอกาสที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์

และที่สำคัญก็คือ การเกิดเป็นมนุษย์นั้นสามารถสะสมบุญ รวมถึงเจริญภาวนาได้ดีกว่าเทวดา (เทวดาทำบุญไม่ได้ เจริญภาวนาไม่ได้เพราะรู้แต่ความละเอียดประณีต ต้องคอยอนุโมทนาจากมนุษย์เวลาทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา) ดังนั้นถ้าใครเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วไม่ทำสิ่งเหล่านี้ นอกจากจะถือว่า "เสียชาติเกิด" แล้ว ยังอาจนำไปสู่อบายภูมิอื่นๆอีกต่อไปไม่สิ้นสุดก็ได้

ดังนั้น การที่มนุษย์เรามีโอกาสน้อยที่จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง จึงน่ากลัวอย่างประมาณไม่ได้เลย!

เรื่องพวกนี้มีจริงหรอ?

บางคนอาจบอกว่า เห่ยเรื่องแบบนี้จะจริงหรอ ถ้าภพภูมิอะไรนี่ไม่มี ชีวิตนี้มีชีวิตเดียว การ "เจริญสติ" หรือแม้แต่ทำความดีนี่มันจะคุ้มกันหรอ???

เรื่องนี้ขอหยิบยืมความคิดของนักคณิตศาสตร์ชาวตะวันตก (Pascal) มาตอบครับ (http://en.wikipedia.org/wiki/Pascal's_Wager)


แนวคิดนี้ Pascal ได้ใช้ตารางแมทริกซ์แบบ 2 คูณ 2 เพื่อมาหาดูว่า อืม ทางเลือกที่ดูสมเหตุสมผล (rational) ในการใช้ชีวิตบนโลกนี้นั้นคืออะไร โดยที่มีความไม่แน่นอนว่าจะมีพระเจ้าอยู่หรือไม่ (ตรงนี้เราแทนค่าพระเจ้าตามแนวคริสตศาสนาด้วยภพภูมิครับ) และผลปรากฏก็คือ

- หากภพภูมิมีจริง และเราเชื่อ (ปฏิบัติดี เจริญสติ) ผลที่ได้จะประมาณค่ามิได้ (หลุดพ้น/ไม่ไปสู่อบายภูมิ)
- หากภพภูมิไม่มีจริง และเราเชื่อ ผลที่ได้คือเราอาจเสียเปรียบในชีวิต (เสียโอกาสได้ประโยชน์จากการเบียดเบียนคนอื่น เช่น โกงเงิน) แต่ก็ไม่แน่ว่าจะเสียเปรียบ เพราะอาจจะถือว่า "ทำดีเสมอตัว"
- หากภพภูมิมีจริง แต่เราไม่เชื่อ (ไม่ปฏิบัติดี หรือไม่เจริญสติ) ผลที่ได้คือเสียหายอย่างประมาณค่าไม่ได้
- หากภพภูมิไม่มีจริง แต่เราไม่เชื่อ ผลคือเราได้กำไรในชีวิต (จากการเบียดเบียนคนอื่น - แต่ก็ไม่แน่เสมอไป อาจจะโดนคนอื่นแก้แค้น เดือดร้อนกว่าเก่าก็ได้)

ประเด็นคือ Pascal ให้ค่าอินฟินิตี้ กับ เลข 1 แทนจำนวนในการวิเคราะห์ครั้งนี้ ดังนั้นความเสี่ยงที่จะได้รับโทษจากการไม่เชื่อมีมากกว่าการเชื่อ (และปฏิบัติ - วัดจากค่าอินฟินิตี้) ซึ่งจะเห็นได้ว่าการที่เราเชื่อนั้น สมเหตุสมผลกว่าการไม่เชื่อ ไม่ว่าจะมีภพภูมิ (พระเจ้า - ในบริบทที่ Pascal ใช้วิเคราะห์) จริงหรือไม่ครับ!

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะมีข้อถกเถียงจากบางคนต่อการวิเคราะห์นี้ของ Pascal ก็ตาม แต่โดยส่วนตัวคิดว่าตัวอย่างนี้ก็น่าจะพอเป็นคำอธิบายที่พอใช้ได้สำหรับการตอบคนที่ไม่เชื่อเรื่องนี้ครับ

และอันที่จริง ถ้าคนที่ไม่เชื่ออยากจะพิสูจน์ว่าเรื่องแบบนี้มีจริงหรือไม่ เจริญสติแล้วหลุดพ้นหรือเปล่า ลงท้ายแล้วการพิสูจน์ก็คือการได้ลองมาเจริญสตินั่นแหละครับ ถือเป็นการทำการทดลองจริงๆ มากกว่าการนั่งคิดตามหลักตรรกะเหตุผล ซึ่งพระพุทธเจ้าเองก็ตรัสเอาไว้แล้วว่า บุคคลล้วนไม่อาจเข้าถึงธรรมได้หากใช้ตรรกะเหตุผลในการขบคิด

ตัวอย่างนี้จึงมีไว้เพื่อทำให้ผู้สงสัยได้คลายสงสัย มิใช่ความจริงแท้เชิงพุทธะใดๆครับ

บทส่งท้าย

เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า พระพุทธโอวาทสุดท้ายนี้นั้นเสมือนเป็นการ "กระตุ้นเตือน" ให้เราๆท่านๆอย่าได้หลงใหลในทางสุดโต่งทั้งสอง (ความยึดติดในกามสุข และความยึดติดในการปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นแบบสุดโต่ง) และให้ "ยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม" (เจริญสติ) อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนในชีวิตร่างกายจิตใจในการเป็นมนุษย์ของเรานี้

ส่วนวิธีการปฏิบัติ อันนี้ต้องเริ่มจากการศึกษา ขวนขวาย ของเราทุกคนเองครับ (ก็ไปศึกษาได้จากส่วนอื่นๆที่พระองค์เคยสอน หรือไปเรียนจากครูผู้รู้ต่างๆ)

แต่จะเห็นได้ว่า โอวาทสุดท้ายของพระองค์ ครอบคลุมสาระสำคัญของการเป็นมนุษย์ จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษา และทำความเข้าใจในฐานะ "จุดตั้งต้น" สำหรับการปฏิบัติธรรม หรือหันกลับมาพิจารณาตนเอง และเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทางที่ดี ที่เป็นสัมมา

พวกเราทั้งหลาย จึงควรยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด!

วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ข้อมูลการบวชวัดชลประทานฯแบบละเอียด (Part 3: เกร็ดเล็กน้อยจากการบวช (จบ) )

หลักจากตอนที่แล้ว (http://botsleepyboyz.blogspot.com/2014/06/part-2.html) ได้พูดถึงกิจวัตรประจำวันของพระนวกะ (พระบวชใหม่) ที่วัดชลประทานฯไปพอสมควรแล้ว คราวนี้ก็จะขอพูดถึงเกร็ดเล็กๆน้อยๆจากการบวชครับ เผื่อว่าจะเป็นความรู้ประดับไว้ หรือเผื่อว่าใครสนใจไปบวชก็จะได้ทำความเข้าใจแต่เนิ่นๆก็น่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยทีเดียว

(1) ไตรจีวร

จริงๆแล้วพระสงฆ์จะมีผ้าสามผืนไว้ห่มคลุมกาย อันได้แก่ 1)สบง (ผ้านุ่ง) 2)จีวร (ผ้าห่มคลุมร่าง) 3)สังฆาฎิ (ผ้าห่มคลุมเวลาอากาศหนาว) ซึ่งผ้าสังฆาฎิจะมีขนาดเหมือนจีวร และในเมืองไทยจะเอามาพาดไว้ที่ไหล่ซ้ายแล้วคาดด้วยผ้าอีกชั้น ใส่ไว้สำหรับเวลาลงอุโบสถ หรือโอกาสสำคัญๆครับ

สำหรับผ้าที่เป็นเหมือนเสื้อพระที่เรียกว่า อังสะ (หรือเสื้อตัวในของพระ) นั้นไม่ได้รวมอยู่ในไตรจีวรครับ แต่ก็จะใส่กันเอาไว้ครับ เวลาพระกวาดลานวัดก็จะใส่อังสะแทนห่มจีวรด้วย 

เวลาซักจีวรนี่พูดตรงๆเลยครับว่า เมื่อยมือมากกว่าจะบิดให้หมาด แต่ตอนตากนี่ลมพัดแป๊บเดียวก็แห้งแล้ว และตามหลักของศีล 227 ข้อแล้วห้ามตากข้ามคืนไว้กลางแจ้งครับ (เหตุผลคือกลัวเปียกแล้วไม่มีใส่) และถ้าจะตากข้ามคืนให้ตากในที่ร่ม และต้องรีบเก็บก่อนตะวันจะขึ้น มิฉะนั้นจะต้องอาบัติฐานไม่รักษาจีวรให้ดี ซึ่งกฏนี้เดาว่าเพราะในสมัยพุทธกาลผ้าหายาก พระเลยต้องรักษาให้ดีๆครับเพื่อประหยัดทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมต้องการจีวรใหม่ที่ประณีตกว่ามาใส่

ส่วนการนุ่งจีวรนี่เรียกได้ว่ากว่าจะนุ่งเป็นก็ท้อแท้ไปหลายตลบ และกว่าจะคล่องก็ตอนจะสึกเรียบร้อยแล้ว ส่วนเวลาดูพระอาจารย์ท่านนุ่งนี่เรียกได้ว่าจบมาจากสำนักเดียวกันเลยครับ เวลาห่มจังหวะสุดท้ายนี่เหมือนกันทุกรูปเลยทีเดียว และลักษณะการนุ่งแบบนี้พวกเราก็แซวกันว่าเป็นการนุ่งจีวร "แบบเดฟ" ซึ่งหลังๆพวกเราก็ฝึกหัดกันจนชำนาญขึ้นเพราะมันนุ่งแล้วมั่นใจว่าจะไม่หลุดกว่าห่มแบบโคร่งๆมากมายจริงๆ 55

การห่มจีวรนั้นจะมีการห่มด้วยกันสองแบบ แบบแรกคือ "ห่มเฉวียงบ่า" คือการห่มแบบปกติของพระครับ ที่จีวรจะสะพายแล่งจากไหล่ซ้ายลงไปรักแร้ขวา กับอีกแบบคือ "ห่มคลุม" คือการห่มแบบปกคลุมทั้งกายรวมถึงไหล่ขวา ซึ่งมักจะใช้ห่มตอนบิณฑบาตร หรือเดินทางไกลๆครับ แต่ทั้งสองแบบจะมีเทคนิคการห่มแบบเดียวกัน เรียกได้ว่าถ้าจับเคล็ดได้แล้วก็นุ่งห่มได้ทั้งสองแบบเองแหละครับ

             

                       ห่มแบบเฉวียงบ่า                                               ห่มแบบคลุม

(2) สังฆทาน

เรื่องนี้เป็นประเด็นฮอตฮิตมากของที่นี่ เรียกได้ว่าถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่หลวงพ่อท่านได้เทศนาเรื่องนี้ให้กับญาติโยมตลอด (ส่วนของพระนวกะเรานี่ครั้งเดียวก็เดินพอครับ) โดยจริงๆแล้วคำว่าสังฆทานนั้นหมายถึง การทำทานให้กับหมู่คณะครับ (สังฆะ แปลว่า หมู่คณะ) ซึ่งภาพในหัวขมองของเราก็มักจะคิดไปว่า เอ้อ ถวายสังฆทานคือการซื้อถังสีเหลืองๆ ใส่ของต่างๆนานาในนั้นจากร้านค้า แล้วเอาไปถวายวัดกะว่าพระท่านขาดเหลืออะไรก็จะได้ใช้ตามสมควร

แต่ปัญหาคือ เจตนาคนทำน่ะดี แต่ของที่พระได้รับไปนั้นได้ใช้จริงๆหรือไม่หนอ...

เรื่องของเรื่องก็คือ ของส่วนใหญ่ที่มาในถังสีเหลืองๆที่ขายตามร้านนั้น พระท่านได้ใช้จริงๆไม่กี่อย่างเท่านั้นครับ ของพวกเครื่องดื่มชงๆ (เก๊กฮวย มะตูม) เห็นเป็นกล่องแต่ข้างในมีอยู่หนึ่งซองสองซอง ที่ร้ายที่สุดก็คือผ้าอาบน้ำของพระครับ พระอาจารย์แกะออกมาจากถังให้ดูก็พบว่า อืม มันกว้างแค่ครึ่งหนึ่งของที่เราใช้กันนี่หว่า แล้วงี้พระท่านจะใช้นุ่งอาบน้ำกันจริงๆยังไงละนั่น เรียกได้ว่าพอมาถึงตรงนี้ก็รู้สึกว่าไม่ไหวจะเคลียร์แล้วกับถังพวกนี้ครับ

(มีพระรูปอื่นจากวัดอื่นก็นำมาแสดงให้ดูเหมือนกันครับ ตามนี้ http://www.youtube.com/watch?v=4uhuUt_F1d8 )

จริงๆแล้วเคล็ดของการทำสังฆทานก็ไม่น่าจะต่างจากทานทั่วๆไปหรอกครับ คือ ขอแค่เจตนาคนทำดีทั้งก่อนจะทำ ตอนทำ หลังทำ และที่สำคัญที่สุดคือการมี "ปัญญา" เพียงพอที่จะเล็งเห็นว่าทานที่เราทำไปนั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้รับได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกเลยครับที่ทางวัดจะได้รับสังฆทานมาเป็นกระดาษทิชชู่ ถุงขยะสีดำ อุปกรณ์ทำความสะอาด น้ำยาล้างจาน น้ำปานะ หรือปัจจัย ฯลฯ เนื่องจากว่าคนทำสังฆทานเค้ารู้ว่าพระท่านจำเป็นต้องใช้สิ่งของเหล่านี้ครับ อย่าไปยึดติดว่าทำสังฆทานต้องซื้อถังเหลือง ผมแนะนำว่าให้เราลิสต์รายการเองครับว่าพระท่านต้องใช้สอยของอะไรบ้าง จากนั้นก็ไปซื้อมาถวายเท่านั้นเองครับ คราวนี้แหละพระท่านได้ใช้ชัวร์ๆ

อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ การทำสังฆทานแบบไม่เจาะจงตัวบุคคลนี่พระท่านบอกว่าได้อานิสงส์มากกว่าการทำบุญเฉพาะเจาะจงตัวบุคคลครับ และถ้าเป็นไปได้ การทำบุญแก่คนหมู่มากไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม (ทำทานทั่วไปกับสถานสงเคราะห์ บริจาคเลือด ฯลฯ) ก็มีอานิสงส์ประมาณสังฆทานนี่แหละครับ ซึ่งถ้ามองในมุมเศรษฐศาสตร์เรื่องการจัดการทรัพยากร ผมว่าการทำทานให้กับคนหมู่มากนี่น่าจะมีประโยชน์ต่อสังคมมากๆครับ เพราะเมื่อคนเหล่านั้นได้รับทานมาแล้ว เขาก็มีกำลังพอที่จะทำประโยชน์ให้กับคนอื่นๆในสังคมต่อไปไม่สิ้นสุด ฉะนั้นถ้าทำสังฆทานกับพระแล้ว ก็อย่าลืมทำ "ทานหมู่คณะ" ในรูปแบบต่างๆดังนี้ด้วยก็จะเป็นการช่วยเหลือสังคมได้มากเลยละครับ

(3) ศีล 227 ข้อ

ตอนเด็กๆ ผมมักจะสงสัยเสมอว่า เอ๊ะ เราๆท่านๆมี ศีล 5 ให้รักษานี่ก็น่าจะครอบคลุมแล้วนะ พระท่านถือตั้ง 227 ข้อนี่คือมันจะมีอะไรให้รักษาอีกละเนี่ย แต่ก็ลืมๆไปไม่ได้คิดอะไรขึ้นมา

จนกระทั่งบวชเรียน

พออ่านหนังสือ "นวโกวาท" (โอวาทของพระนวกะ) เลยมาถึงบางอ้อครับว่า จริงๆแล้วศีล 227 ข้อเนี่ยไม่ได้พิสดารพันลึกอะไรเลย กลับเรียบง่ายและชวนให้ย้อนกลับมาดูตัวเองตลอดเวลาที่เป็นฆราวาสด้วยซ้ำ

ข้อใหญ่ใจความจริงๆก็คือ ในสองร้อยกว่าข้อนั้น ที่เหลือหลักๆแล้วคือ "การวางตัวของพระภิกษุ" ในอิริยาบถต่างๆเท่านั้นครับ

มาดูตามบทใหญ่ๆของศีล 227 ข้อกัน

- ปาราชิก 4 (ละเมิดแล้วขาดจากความเป็นพระ) ได้แก่ เสพเมถุน เอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้มา แกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย อวดอุตริมนุสสธรรม ที่ไม่มีในตน

- สังฆาทิเสส 13 (ละเมิดแล้วต้องอยู่กรรม - กักบริเวณ) เช่น แกล้งทำน้ำอสุจิเคลื่อน มีความกำหนัดแล้วจับต้องกายหญิง/พูดเกี้ยวหญิง ฯลฯ

- นิสสัคคียปาจิตตีย์ 30 (ละเมิดแล้วต้องปลงอาบัติกับพระรูปอื่น) ในบทนี้จะเน้นเรื่องการรักษาจีวร การรับเงินทอง การซื้อของด้วยเงินทอง และการรักษาบาตร

- ปาจิตตีย์ 92 (ละเมิดแล้วต้องปลงอาบัติ) ในบทนี้จะว่าด้วยเรื่องการสำรวมในวาจา ความประพฤติ การรับประทาน การไม่ฆ่าสัตว์ การสำรวมในอารมณ์ต่างๆ ตลอดจนการนุ่งห่มจีวร

- อธิกรณสมถะ 7 (เป็นข้อถกเถียงว่าด้วยช่องโหว่ของศีล 227 ข้อ เช่น เกิดเหตุที่พระภิกษุทำการใดๆที่เหมือนจะเป็นการไม่สมควร แต่ไม่ได้ระบุไว้ตรงๆในศีล ต้องให้หมู่สงฆ์พิจารณา)

จะเห็นว่า หลักๆที่ต้องรักษาเอาไว้คือ ศีล 10 การดูแลรักษาเครื่องบริขาร (จีวร บาตร) และการสำรวมระวังในความประพฤติและอิริยาบถต่างๆครับ สองร้อยกว่าข้อที่เพิ่มขึ้นมา ก็มาจากสองส่วนหลังนี่แหละครับ

แล้วทำไมพระภิกษุต้องสำรวมระวัง หรือต้องดูแลเครื่องบริขารกันขนาดนั้น?

อย่างแรกเลยก็คือ เครื่องบริขารในสมัยพุทธกาลนั้นหายาก (ลองคิดถึงสังคมเกษตรกรรมครับ กำลังแรงงานไม่ค่อยมี แถมไม่มีเครื่องจักร จะปลูกฝ้าย ทอผ้ากันได้ผ้าซักผืนนั้นจะยากลำบากขนาดไหน) ฉะนั้นการดูแลรักษาจึงเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ เพราะของมีจำกัดจริงๆ ถ้าไม่ระวังก็ไม่มีใช้ครับ ก็ไปลำบากเดือดร้อนญาติโยมเขาอีก ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือการฝึกให้รู้จักความสมถะครับ ไม่ไปหวังลาภผลว่าญาติโยมเขาจะมาถวายให้ มันก็ไปลำบากเขาอีกต่อนั่นแหละ

อีกเรื่องก็คือ พระภิกษุพึงสำรวมระวังความประพฤติก็เพื่อให้เป็นที่เลื่อมใสต่อผู้คนทั่วไป ถ้าประพฤิติทั่วไปแบบฆราวาสแล้ว เวลาสั่งสอนธรรมอะไรฆราวาสทั่วไปก็คงไม่เคารพ ไปน้อมนำเอาพระธรรมเข้ามาใส่ตัวแน่ๆ และที่สำคัญที่สุดคือ การสำรวมระวังกาย วาจา ใจ นี้คือการปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์ในตัวครับ ให้มีสติอยู่กับตัวเองตลอดเวลาอีกด้วย

ถ้าพูดง่ายๆเลยก็คือ ศีล 227 ข้อนี้มีไว้ให้สำหรับพระปฏิบัติเพื่อเป็นการ "ปฏิบัติธรรม" ตลอดเวลา อันเป็นเหตุปัจจัยให้ใกล้กับการปฏิบัติในขั้นสูงๆต่อไปนั่นเองครับ

(4) นิสสัคคียปาจิตตีย์

ที่แยกออกมาเป็นอีกหัวข้อเพราะสำคัญครับ พระนวกะหลายๆท่านอาจจะมีโอกาสเผลอแบบผมเมื่อครั้งตอนบวชวันแรกๆครับ แถมขั้นตอนการปลงอาบัตินี่ซับซ้อนกว่าปาจิตตีย์เล็กน้อย เลยขอเพิ่มเติมเพื่อจะได้ไม่ทำผิดพลาดเมื่อบวชเข้าไปแล้วครับ แหะๆ

ข้อแรกที่มีโอกาสผิดกันมากคือ เวลาตากจีวรครับ ปกติแล้วบวชพระก็จะมีจีวรอยู่สองชุด ชุดที่เรานุ่งเข้าไปบวชในอุโบสถเรียกว่า "ชุดครอง" ขณะที่จีวรสำรองอีกชุดจะเรียกว่า "อติเรกจีวร"

แล้วเกี่ยวอะไรกับการตากผ้าละฮึ???

เกี่ยวกันครับ เพราะปกติเวลาบวชแล้วต้องซักชุดครองของเรา การตากผ้าข้อควรห้ามคือ อย่าได้ตากกลางแจ้งตอนกลางคืนเป็นอันขาด และถ้าตากกลางคืนก็ต้องตากในที่ร่ม และต้องเก็บก่อนตะวันขึ้น มิฉะนั้นแล้วก็จะผิดศีลข้อนี้ไปครับ ซึ่งเหตุผลก็คือพระภิกษุมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาเครื่องบริขารให้ดีครับ ถ้าหายไปแล้วก็จะเกิดเหตุการณ์ขัดแย้งกับบุคคลอื่นๆ ทำให้เกิดโทสะต่อกัน และอาจเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรง หรือความเดือดร้อนต่อผู้อื่นอีกก็เป็นได้ (โดยเฉพาะญาติโยมที่จะหามาถวายใหม่) ดังนั้นต้องรักษาไว้ใ้ห้ดีครับ

ถ้าตากชุดครองแล้วลืมเก็บก่อนตะวันจะขึ้น (อารมณ์ว่าวันนั้นใส่อติเรกจีวรแทน) วิธีแก้คือต้องกล่าวคำสละชุดครองนั้น และให้พระรูปอื่นกล่าวคำคืนผ้าชุดนั้นแก่เรา จากนั้นเราก็มาอธิษฐานผ้า ทำพินทุผ้า แล้วค่อยปลงอาบัติครับ (ขั้นตอนเยอะจริงๆ)

อีกอย่างหนึ่งที่อาจจะพลาดกันคือ ตามหลักแล้วพระห้ามใช้ หรือเก็บอติเรกจีวรเพื่อใช้ไว้เกิน 10 วันครับ ถ้าเกินก็โดนกันไป วิธีแก้ก็คือให้กล่าวคำสละผ้า แล้วให้พระรูปอื่นกล่าวคำคืน จากนั้นเราก็อธิษฐานผ้า ทำพินทุผ้า และปลงอาบัติครับ (ขั้นตอนเดิมเลย)

แต่ถ้าใครเก็บอติเรกจีวรไว้เกือบจะสิบวัน แนะให้ทำการสละผ้า รับคำคืนผ้า อธิษฐานผ้า และพินทุรอไว้เลยครับ (ซึ่งจริงๆถ้าจะเอาเป๊ะตามพระวินัย แบบนี้ก็ผิดครับ เพราะพระสมัยก่อนจริงๆก็น่าจะมีแค่ชุดครองเท่านั้นเอง ปกติแล้วจะเอาสังฆาฎิมาใช้แทนกันกับจีวรธรรมดาครับ แต่สมัยนี้อนุโลมเท่านั้นเอง)

ถ้าได้บวชกันแล้วก็ระวังๆเรื่องนี้ด้วยนะครับ

(5) เงิน

เวลาออกไปบิณฑบาตมักจะมีญาติโยมถวายปัจจัยครับ ตามแต่กำลังและความเหมาะสมของแต่ละคน ซึ่งจริงๆแล้วมันอาบัตินะครับ พระเลยต้องปลงอาบัติกันทุกคืนเพราะเรื่องนี้แหละ 555

แต่จริงๆแล้วมันก็อยู่ที่เจตนาด้วยครับ เวลาเราเป็นพระแล้วถ้าเราได้รับปัจจัยมาก็ไม่ต้องไปขุ่นเคืองอะไร และก็ไม่ต้องไปคิดถึงลาภผลอะไรตรงนั้น เขาให้มาก็รับเฉยๆไม่ต้องคิดอะไร จากนั้นค่อยนำไปบริจาคทำประโยชน์ให้คนอื่นก็ได้ครับ แล้วจะปลงอาบัติก็โอเคแหละครับ ของอย่างนี้มันอยู่ที่ใจจริงๆน่ะแหละ แค่ไม่ได้ยินดีในลาภผลนั้นก็เป็นใช้ได้แล้ว (แต่ก็ไม่ต้องขุ่นมัวนะครับ จะเป็นบาปเป็นโทษไปอีก)

และอีกเรื่องที่อยากจะบอกก็คือ บางทีก็อาจอนุโลมได้เรื่องการซื้อของด้วยปัจจัยครับ

ในบางกรณี เช่น ต้องเดินทางไปกิจนิมนต์โดยที่เจ้าภาพไม่ได้ขับรถพาไป แบบนี้ทำได้ครับเพราะช่วยไม่ได้จริงๆ ก็ต้องปลงอาบัติครับ ส่วนอีกกรณีคือไปบิณฑบาตแล้วทางสายนั้นไกลมาก กว่าจะเดินกลับวัดมาก็สายแล้ว (จะฉันรวมกันประมาณเจ็ดโมงครึ่งครับ ซึ่งถ้าเดินกลับไม่ทันแน่ๆสำหรับสายนั้น) แบบนี้อนุโลมให้นั่งแทกซี่กลับมาได้ครับ แล้วก็ปลงอาบัติ ซึ่งวันแรกตอนผมบวชก็ต้องนั่งแท็กซี่มากับพระพี่เลี้ยงนั่นแหละครับ แต่วันหลังๆมีโยมอุปัฎฐากช่วยขับระกระบะไปส่งให้ ก็เรียกได้ว่าสบายใจขึ้นเยอะครับ ต้องอนุโมทนาจริงๆ

เคสสุดท้ายจริงๆคือซื้อหนังสือธรรมะในวัดครับ!

อยากจะฝากว่าสุดท้ายเรื่องแบบนี้อยู่ที่ใจครับ ใจเป็นประธาน ถ้าเจตนาเราไม่ได้จะเอาเงินไปซื้อของมาบำเรอกามหรือเพื่อให้มีส่วนเกินไปจากความเป็นพระ ผมว่าก็โอเคแล้ว เวลาเราเป็นฆราวาสก็อย่าเพิ่งไปตัดสินพระจากการกระทำภายนอกโดยที่ไม่ได้สืบสาวความจริงครับ เดี๋ยวหน้าแตกไม่พอจะเป็นอกุศลทางใจไปเปล่าๆด้วย

(6) ปัจจัยสี่ 

ตอนบวชเป็นพระจะต้องท่องบทต่างๆที่ว่าด้วยการใช้สอยปัจจัยสี่อย่างสำรวมระวัง (จีวร อาหาร ยารักษาโรค และที่นอน) ข้อนี้แสดงให้เห็นถึงความสมถะ เรียบง่าย ของผู้ถือบวชอย่างชัดเจนที่สุดครับ ว่าตลอดการใช้สอยนั้นก็สักแต่ว่าใช้สอยไปเท่านั้น ไม่ได้ฉันเพื่อให้เกิดกำลังพลังทางกายส่วนเกิน ความเอร็ดอร่อย หรือความสะดวกสบาย และเพื่อให้สามารถรักษากายนี้ เอาไว้ทำประโยชน์อื่นๆต่อไปมากกว่าครับ

ข้อคิดเรื่องนี้ทำให้กลับมาดูตัวเองตอนที่เป็นฆราวาส ว่าจริงๆแล้วเราจำเป็นต้องมีอะไรบ้างในชีวิตนี้ ถึงที่สุดแล้วเมื่อหนีความตายไปไม่พ้น การใช้สอยปัจจัยสี่อย่างสำรวมระวัง ย่อมเป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเองและผู้อื่น คือ เป็นประโยชน์ต่อตนเองในแง่ของการเจริญสติ ปฏิบัติธรรมเจริญภาวนากันตามสมควร และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นในแง่ของการประหยัดทรัพยากรในสังคม ทรัพยากรส่วนเกินใดที่เหลือก็สามารถนำไปปันให้กับผู้ที่ยังไม่มีได้ แทนที่จะมาสิ้นเปลืองกับตัวเราเพียงคนเดียวเพื่อปรนเปรอความสุขสบาย ผมว่านี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ และหวังว่าผู้ที่มีโอกาสบวชจะได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้มากๆครับ

ส่วนใครที่ยังไม่เคยบวช จะพิจารณาดูกันก็ไม่เสียดายแต่ประการใดเลยครับ...



PS.
ขอขอบคุณรูปภาพจากเว็บไซต์ดังนี้ครับ

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=133186
http://www.toodong.com
http://news.tlcthai.com/news/104692.html

วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ข้อมูลการบวชวัดชลประทานฯแบบละเอียด (Part 2: ชีวิตและกิจวัตรของพระนวกะ)

หลักจากตอนที่แล้ว (http://botsleepyboyz.blogspot.com/2014/06/part-1.html) ได้พูดถึงการเตรียมตัวบวชที่วัดชลประทานฯไปพอสมควรแล้ว คราวนี้ก็จะพูดถึงชีวิตและกิจวัตรของพระนวกะ (พระบวชใหม่) ครับ แต่จะพูดในลักษณะคร่าวๆ ทั่วไป เพื่อที่จะได้เห็นภาพรวมทั้งหมดครับว่ามันไม่ได้โหดหินน่ากลัวอะไรขนาดนั้น และที่สำคัญก็คือ ตารางกิจกรรมก็ไม่ได้ว่างจนเกินไปครับ

(1) ทำวัตรเช้า: ธรรมะรับอรุณ

โดยปกติแล้ว พระอาจารย์ท่านไม่ได้กำหนดอะไรตายตัวหรอกครับว่าต้องตื่นกี่โมง (ปกติก็ตีสามครึ่ง) แต่ที่แน่ๆก็คือเราต้องไปทำวัตรเช้ากันที่โรงเรียนพุทธธรรม (ชั้นสอง ห้องพื้นไม้ แอร์เย็นฉ่ำ - นับว่าโชคดีกว่ารุ่นสมัยก่อนเยอะเลยครับ) ตอนประมาณตีสี่ครับ พระอาจารย์ท่านจะเปิดเพลงธรรมะไม่ก็ปาฐกถาธรรม (คือเทศน์นั่นแหละ) ของท่านหลวงพ่อปัญญารอพระนวกะเอาไว้ครับ ใครไปก่อนจะฟัง หรือนั่งกัมมัฎฐานสงบใจอะไรไปก็ตามสบายครับ

เมื่อมากันพร้อมแล้วก็ถึงเวลาทำวัตรเช้ากันครับ ซึ่งการทำวัตรเช้า (รวมถึงทำวัตรเย็น) ของภิกษุสงฆ์นี้จุดมุ่งหมายก็เพื่อระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์) และการสำรวมกาย วาจา ใจ ก่อนที่จะเริ่มต้นวันใหม่ (รวมถึงก่อนจำวัด สำหรับการทำวัตรเย็น) ด้วยการสวดมนต์ครับ

ข้อดีของที่นี่คือ การสวดมนต์ทำวัตรจะไม่ใช่สักแต่ว่าท่องคำภาษาบาลีให้ดูเข้มขลังแต่ฟังไม่รู้เรื่องเท่านั้น แต่จะมีบทสวดแปลให้สวดคู่กันไปด้วย เรียกได้ว่าแปลประโยคต่อประโยคครับ เพื่อให้เราเข้าใจว่าเราท่องอะไรอยู่ และจะได้เกิดความยินดีในการระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และหากวันไหนพระอาจารย์ท่านให้สวดบทพิเศษ (ที่ไม่ได้อยุ่ในบทสวดทำวัตรเช้า-เย็นปกติ) ก็จะยิ่งได้ประโยชน์ครับ เพราะบทพิเศษเหล่านั้น ล้วนเป็นบทที่ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติธรรม และหลักธรรมต่างๆที่เราเคยท่องจำกันตั้งแต่เด็ก (เช่น โอวาทปาฏิโมกข์ มรรคมีองค์แปด) หรือบทใหม่ๆที่มาเพื่อสำหรับการทำความเข้าใจในเรื่องกัมมัฎฐาน (อานาปานสติสูตร บทที่ว่าด้วยการพิจารณาสังขาร) ฯลฯ ซึ่งอันนี้แหละครับที่ผมคิดว่าคือหัวใจของการมาบวชที่นี่ทีเดียว

(สำหรับบทสวดมนต์แปลฉบับนี้ไปซื้อหามาอ่านได้ที่ร้านหนังสือตรงข้ามกุฎิสี่เหลี่ยมได้ครับ สนนราคาประมาณ 30 บาท (ถ้าอยากอ่านบทพิเศษจะมีเล่มบางๆขายแยกครับ เล่มละ 15 บาท) โดยร้านจะเปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ครับ ก็ไปใส่บาตรพระแล้วแวะไปหามาอ่านก็เป็นไอเดียที่ดีไม่ใช่เล่น (และยังมีหนังสือและซีดีอื่นๆดีๆอีกมากครับ ในราคาย่อมเยา แนะนำจริงๆ) )

เมื่อทำวัตรเช้าเสร็จแล้ว พระอาจารย์ท่านจะให้ "สงบใจ" ก็คือนั่งสมาธิ เจริญภาวนาอะไรไปนี่แหละครับ จากนั้นท่านก็จะเล่านิทานเซ็น หรือที่ติดปากพระนวกะว่า "ธรรมะรับอรุณ" นี่แหละครับ จากนั้นก็จบ เสร็จประมาณตีห้าครับ แต่อาจมีเลทได้ไม่เกินสิบห้านาที

(2) บิณฑบาต: วัตรปฏิบัติที่มิอาจว่างเว้น

กลับมาจากทำวัตรเช้า ก็คือเตรียมตัวไปบิณฑบาตกันครับ โดยปกติแล้วพระนวกะจะมีการแบ่งสายการเดินบิณฑบาตไปตามที่ต่างๆ และเวลาการเดินบิณฑบาตของแต่ละสายจะไม่เหมือนกัน แต่ส่วนมากจะอยู่ราวๆตีห้าครึ่ง ถึงราวๆหกโมงเช้า สำหรับสายของผมตอนนั้นคืออยู่ที่หมู่บ้านสี่ไชยทอง ไปเจอหลวงพี่ที่นำสายประมาณตีห้าสี่สิบ แล้วก็เดินเลยครับ ไปตามทาง

ตอนเป็นพระนี่เข้าใจเลยว่าเดินสำรวมเป็นยังไง กังวลจีวรว่ามันจะหลุดมั้ยบ้างละ (เดี๋ยวจะมาว่ากันด้วยเรื่องจีวรตอนหลังครับ) ต้องระวังว่าจะทำบาตรตกมั้ยบ้างละ (เป็นอาบัตินะครับ ฐานขาดสติ+ไม่สำรวม แหะๆ) ต้องระวังไม่ให้โดนตัวญาติโยม ต้องบริหารจัดการของใส่บาตรของญาติโยมว่าจะเก็บอะไรไปฉัน จะเอาอะไรให้พระท่านอื่นๆฉัน ต้องดูทางเดินว่ามีกับดัก หรือเศษแก้วหรือไม่ ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นการฝึกที่ดีครับ ต่อให้ง่วงแค่ไหนก็ตื่นกันแน่นอนตรงนี้ 55

ตอนเดินบิณฑบาตนี่ความรู้สึกคนละอย่างกับการเป็นฆราวาสรอใส่บาตรเลย นอกจากต้องสำรวมระวังอย่างที่ว่ามาแล้ว เวลาญาติโยมไม่ว่าจะเด็กจะแก่ไหว้เรานี่มันทำให้เราต้องกลับมาทบทวนตัวเองเสมอว่า ได้ทำตัวให้น่าไหว้น่าเคารพอย่างนั้นหรือยัง? รักษาศีล 227 ข้อได้อย่างไรแล้วบ้าง? เพราะอาหารที่ญาติโยมเอามาใส่เนี่ยมันจะมีประโยชน์สุดๆถ้าเราตั้งใจปฏิบัติครับ ไม่ว่าจะศีล หรือภาวนาก็ตาม ก็ยิ่งทำให้ต้องเอามาทบทวนตัวเองเรื่อยๆครับ ซึ่งตอนเป็นฆราวาสเราจะไม่ค่อยคิดเรื่องแบบนี้หรอก มัวแต่ไปจ้องจับผิดคนอื่น แทนที่จะพยายามจับผิดตัวเอง และขัดเกลาตนให้มากพอ

และเราจะสังเกตได้เลยครับว่าบ้านไหนเป็นขาประจำ กับขาจร และที่แน่ๆคือผมพบเบาะแสส่วนหนึ่งแล้วครับว่าบ้านไหนใส่ปลากระป๋องมาครับ ซึ่งเห็นแล้วก็ไปนึกถึงตอนยังทำค่ายแล้วมาขอปลากระป๋องที่วัดเลยทีเดียว 555

(เกือบลืมครับ พระจริงๆห้ามให้พรโยมตอนบิณฑบาตนะครับ เป็นอาบัติ เค้าถือว่าห้ามแสดงธรรมโยมตอนยืนอยู่ จะให้พรหรือแสดงธรรมได้ต่อเมื่อนั่งแล้วเท่านั้น พระที่วัดนี้เลยจะกลับมาที่วัดก่อนแล้วค่อยให้พรกันครับ)

(3) นั่งรับบิณฑบาตที่ลานหินโค้ง: เตรียมฉันมื้อเช้า

สายบิณฑบาตที่ผมสังกัดนี้จะกลับมาถึงลานหินโค้งประมาณหกโมงครึ่งครับ (มีโยมอุปัฎฐากที่บ้านและที่ทำงานอยู่แถวนั้น มาบริการรับของใส่บาตรไปใส่ในถุง และบริการส่งพระกลับวัดด้วยรถกระบะครับ (อนุโมทนาด้วยครับ) เหตุที่สายนี้ต้องนั่งรถกลับ เพราะระยะทางเดินบิณฑบาตมาค่อนข้างไกลพอสมควรครับ สายอื่นๆที่ระยะทางสั้นกว่าก็จะเดินกลับมา ประมาณนี้ครับ) ก็เดินไปถ่ายของที่ได้มาในกะละมังส่วนกลาง เก็บมื้อเช้าและเพลไว้เลยครับ จากนั้นไปนั่งรอโยมมาใส่บาตรกันไป บางวันโยมเยอะเพราะเป็นวันพระ บางวันโยมน้อยก็ไม่เป็นไรครับ ก็ว่าไปตามเรื่อง (พวกเราถึงกับมีคำพูดว่า "ไปวัดดวงกับโยม" ซึ่งหมายถึงว่าในวันนั้นได้ของบิณฑบาตน้อย และของในกะละมังกลางก็น้อย เลยต้องไปวัดดวงว่าโยมที่จะมาใส่บาตรที่ลานนั้นจะใส่อะไร เข้าทำนองไปตายเอาดาบหน้า 555)

เจ็ดโมงครึ่งก็จะให้ญาติโยมสมาทานศีล และกล่าวคำขอถวายทาน ที่นี่ผมชอบมากครับ เพราะคำถวายทานไม่ได้พูดว่า "เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ของข้าพเจ้าทั้งหลาย" แต่พูดว่า "เพื่อบริจาคและสละออก เพื่อขจัดเสียซึ่งอาสวะกิเลสทั้งหลาย (ความเห็นแก่ตัว)" ตรงนี้จับใจครับ จากนั้นพระก็จะท่องบทพิจารณาบิณฑบาตว่าไม่ได้ฉันเพื่อให้เกิดกำลังส่วนเกินนะ แต่ฉันเพื่อให้ไม่หิว จะได้สามารถทำกิจของสงฆ์ได้ทั้งวันเท่านั้น เสร็จแล้วก็เริ่มลงมือฉันเลยครับ

เวลาฉันฉันบนฝาบาตร (ได้ยินไม่ผิดครับ ฝาบาตร) และต้องสำรวมครับ วันแรกบวชใหม่ๆไม่ได้เรียนเรื่องศีลพระเจอข้าวมันไก่โยมก็โซ้ยแบบฆราวาส (มือนึงยกฝาบาตรขึ้นมา มือนึงถือช้อนซัดโฮกๆ) ก็อาบัติกันไปนะครับ 55 วันหลังๆเลยต้องวางฝาบาตรไว้ที่พื้น หั่นกับข้าวให้พอดีคำ แล้วตักมาใส่ปากแบบสำรวม (บางทีมีโยมถวายผลไม้มา ก็ลองเอาผลไม้ไปผสมกับข้าวดูครับ กะว่าจะลองพิจารณาอาหารแบบแนววัดป่ามั่ง ปรากฏว่าอร่อยกว่าเดิมครับ กิเลสหนาโดยไม่รู้ตัวแทน 55)

เสร็จแล้วก็เช็ดฝาบาตร บาตร แล้วผูกบาตรไว้ให้เรียบร้อย เวลาประมาณแปดโมง (บางวันเลทกว่านั้นครับ) ก็พร้อมกันให้พรโยมไปกรวดน้ำกันไป เสร็จแล้วก็แยกย้ายกลับกุฏิครับ โยมก็กลับบ้านกันไป ถึงตรงนี้พระนวกะจะมีเวลาราวๆหนึ่งชั่วโมง สำหรับคุยสารทุกข์สุกดิบกับญาติโยม ล้างบาตร สรงน้ำ (บางท่านร้อนมากก็สรงได้ครับ) และเตรียมตัวเข้าเรียนเวลาประมาณเก้าโมงสิบห้าครับ

(4) เรียนพระธรรม 

คาบเรียนปกติจะมีสองช่วง คือช่วงเช้า (9.15 - 10.45) และช่วงบ่าย (13.00 - 15.30) หัวข้อธรรมะก็หลากหลายครับ พระอาจารย์ทั้งหลายก็จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้ความรู้กันไป ใครบวชสามสิบวันก็จะได้เรียนเยอะกว่าคนอื่นเป็นพิเศษครับ

แต่สำหรับสามวันแรก ทั้งคาบเช้าและบ่ายจะเป็นเวลาของการ "นั่งกัมมัฎฐาน" (คือนั่งสมาธินั่นแหละครับ) ตรงนี้แหละเรียกได้ว่าใครชอบปวดเมื่อยหรือวอกแวกจะเจอปัญหา เพราะรุ่นที่ผมบวชนี่พระอาจารย์ท่านเน้นนั่ง ไม่เน้นให้ฟังท่านสอน เรียกได้ว่าทำเอาผมปวดไหล่ไปเลยทีเดียว

แต่แปลกครับ ปวดหนักๆวันนึงแต่พอฝืนทำกิจวัตรอะไรไป ปรากฏตัวยืดหยุ่นขึ้น! ก้มเอานิ้วมือไปแตะนิ้วเท้าได้โดยขาไม่งอ ซึ่งตอนแรกผมทำไม่ได้แท้ๆ เลยตั้งทฤษฎีมาลอยๆเองว่า เออหรือว่าพวกฤาษีที่นั่งปฏิบัติยาวๆแล้วเค้าตัวยืดหยุ่นเล่นโยคะได้นี่เพราะนั่งขัดสมาธิยืดเส้นนานนี่เอง! ก็เดากันไปต่างๆนานา 555

แต่ตรงนี้อยากให้ตั้งใจกันครับ เพราะเป็นพื้นฐานที่สามารถเอาไปปฏิบัติต่อได้เวลาว่างๆ ขณะเดินบิณฑบาต พัก ซักจีวร ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละคนแต่ละท่านว่าจะปฏิบัติมากน้อยอย่างไร

ส่วนรุ่นจำพรรษาจะจัดหนักพิเศษ เจ็ดวันเต็มครับ

(5) พักผ่อน ทำวาระ และประชุมรวม

เรียนเสร็จตอนเช้าก็กลับมาฉันเพล เวลาฉันเพลก็ต้องห่มจีวรด้วยแม้ว่าจะอยู่ในกุฏิก็ตามเพื่อความสำรวม เสร็จแล้วก็ทำกิจวัตรส่วนตัว ล้างบาตร ซักจีวร สรงน้ำ (ตอนนั้นอาบวันละ 4 ครั้ง คือตอนเช้า หลังซักจีวร หลังทำวาระ (กวาดถนนวัด) และก่อนนอน) เรียกได้ว่ากว่าจะเสร็จก็ไม่มีเวลาพักผ่อนเลย (เหลือครึ่งชัวโมงก่อนเรียน ก็ทำอะไรไม่ได้มาก วันหลังๆเลยต้องลดปริมาณแฟ้บเพื่อจะได้ซักน้ำเปล่าน้อยลงแทนไป ก็ได้เวลาคืนมาพอสมควรครับ)

จริงๆเวลาว่างเค้าจะให้นั่งอ่านหนังสือ (ทางวัดแจกแบบจัดเต็มมากครับ หนังสือเทศน์ของหลวงพ่อปัญญาแก่พระนวกะรุ่นจำพรรษาทั้งสามเดือน เรียกได้ว่าอ่านจบเหมือนบวชพรรษานึงเลยทีเดียว แถมด้วยหนังสือนวโกวาทที่พระใหม่ต้องอ่าน ซึ่งว่าด้วยพระวินัย 227 ข้อ และหลักธรรมที่ควรรู้ต่างๆ และหนังสือธรรมะอื่นๆอีกมากมายที่จะแจกกันให้อ่าน สรุปคือสุดยอดครับ) แต่ส่วนมากพวกเราก็มักจะจำวัดกันครับเพราะมันเหนื่อยล้าจริงๆ บางวันท็อปฟอร์มก็จะชงกาแฟฉันไปเพื่อให้ตาสว่างอ่านหนังสือได้ครับ แต่บางวันมันไม่ไหวก็หลับไปก็มี

ส่วนทำวาระ (กวาดลานวัด ล้างห้องน้ำ) จะทำหลังจากเรียนคาบบ่ายเสร็จ จะมีการแบ่งกลุ่มไปทำครับ ก็เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ที่ดี สร้างมิตรภาพกับเพื่อนพระนวกะ และฝึกตนได้ดีนักแลทีเดียว

เสร็จแล้ว (โดยเฉลี่ยทำกันประมาณยี่สิบนาทีถึงครึ่งชั่วโมง) ก็กลับไปสรงน้ำ พักผ่อน และรอเรียกประชุมรวมในกุฎิสี่เหลี่ยมของพระนวกะเวลาห้าโมงเย็นครับ โดยการประชุมรวมนี้พระอาจารย์ท่านจะมาพบปะพูดคุยเรื่องราวต่างๆ บางครั้งก็สอนธรรมะบางหัวข้อในหนังสือนวโกวาท ซึ่งมันจะมีรสชาดมากเมื่อท่านเล่าตัวอย่างจากประสบการณ์ที่ท่านประสบพบเจอมา ก็ได้ทั้งสาระและความสนุกสนานไปตามเรื่องครับ (ตรงนี้เราจะรู้ได้เลยว่า พระอาจารย์ท่านใจดีมากครับ ที่ดุไปก็ดุไปอย่างนั้นแหละ) ซึ่งประชุมรวมก็จะเสร็จประมาณหกโมงเย็น เพื่อให้เตรียมตัวไปทำวัตรเย็นเวลาหกโมงครึ่งครับ

(6) ทำวัตรเย็น (และเรียนธรรมะเพิ่มเติม)

ที่ไม่รวมกับทำวัตรเช้าเพราะนอกจากจะสวดมนต์แปลแล้ว ก็จะมีการนั่งกัมมัฎฐาน และบทสวดพิเศษที่พูดถึงในหัวข้อทำวัตรเช้านี่แหละครับจะเป็นหัวข้อไฮไลท์ในการเรียนพระธรรมตอนเย็นหลังสวดมนต์เสร็จ (ทำวัตรเช้าพระอาจารย์ท่านจะไม่ได้อธิบายลงรายละเอียดครับ แต่จะแค่สรุปว่าที่จะสวดกันมันคืออะไรเฉยๆ) บางวันพระอาจารย์ท่านจะนำภาพผ่าตัดศพมาเป็นการศึกษาอสุภะ (ความเน่าเปื่อยของร่างกาย) หรือเรื่องอื่นๆตามแต่ท่านจะนำมาครับ ทั้งหมดนี้ผมถือว่าเป็นการเรียนที่ดีมากๆพอสมควรเลยทีเดียว

เวลาในการทำวัตรเย็นตั้งแต่หกโมงครึ่งถึงสองทุ่มครึ่งครับ สวดจะสวดกันราวๆชั่วโมงนึง สอนอีกชั่วโมงนึง (นั่งกัมมัฎฐานแล้วแต่วันครับ บางวันนิดเดียว บางวันไม่สอนอะไรแต่ให้นั่งยาว) ถ้ามีคำถามจะตามไปถามนอกรอบหลังคาบได้ครับ โดยส่วนตัวผมชอบคาบนี้มากครับ ได้เรียนรู้อะไรมากมายที่ไม่เคยรู้จากคาบนี้จริงๆ ทำให้กลับมาดูตัวเองว่ายังไม่รู้อะไรอีกเยอะ และต้องลงมือปฏิบัติต่อไปอีกมาก

เสร็จแล้วก็แยกย้ายไปพักผ่อนครับ ส่วนมากจะปลงอาบัติกัน (ปลงเพื่อแสดงความละอายว่าไปผิดศีลอะไรในใจ แล้วบอกไปว่าวันต่อไปจะสำรวมกาย วาจา ใจ พยายามไม่ทำผิดอีก) จากนั้นก็สรงน้ำแล้วค่อยจำวัด (บางวันอยากอ่านหนังสือก็อ่านครับ อยากนั่งกัมมัฎฐานก็นั่ง) จากนั้นก็ตื่นมาตีสาม ตีสามครึ่งเพื่อทำกิจวัตรในวันต่อไปครับ (ไม่แนะนำให้นอนดึกครับ เพราะมันง่วงมากจริงๆ คอนเฟิร์ม)

*******

ทั้งหมดนี้คือกิจวัตรของพระนวกะของวัดชลประทานฯครับ สำหรับโพสต์ต่อไปจะเป็นข้อมูลเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอื่นๆพอสังเขปเพิ่มเติมเพื่อประกอบเรื่องการใช้ชีวิตของพระใหม่ครับ

วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ข้อมูลการบวชวัดชลประทานฯแบบละเอียด (Part 1: เตรียมตัวให้พร้อม!)

หลังจากที่เรียนจบและทำงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในใจก็นึกแต่จะหาเวลาบวชเรียนให้ได้สักครั้งหนึ่ง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแรกเลยก็คือ จะไปบวชที่ไหนดี? นึกๆไปเลยคิดไปถึงวัดแห่งหนึ่งที่เคยไปขอมาม่าปลากระป๋องไปทำค่ายอาสาฯสมัยเมื่อยังเรียนมหาลัยอยู่ (แล้วโดนไล่ตะเพิดเพื่อดัดสันดานในวันแรก 555) เลยคิดว่า อืม ที่นี่น่าจะช่วยดัดสันดานและเปิดหูเปิดตาโลกทางธรรมได้ จึงตัดสินใจเสิร์ชหาข้อมูลรายละเอียดการบวชของวัดชื่อดังย่านปากเกร็ดแห่งนี้

สำหรับบทความนี้ จะพยายามเรียบเรียงข้อมูลการสมัคร เตรียมตัว และการใช้ชีวิตโดยทั่วไปหลังจากบวชเรียบร้อยแล้วของ "วัดชลประทานรังสฤษดิ์" ที่เรียกได้ว่าหืดจับพอสมควรทีเดียวกว่าจะฝ่าด่านอรหันต์มาได้

(ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://watchol.blogspot.com/ ครับ เป็นแรงบันดาลใจที่อยากจะเขียนรีวิวแบบ update ต่อยอดต่อไปครับ)

(1) คิดให้ดีก่อนบวช

สิ่งแรกที่ผู้บวช (และผู้ปกครองที่ปรารถนาจะให้บุตรหลานออกบวช) ต้องคิดเป็นอย่างแรกเลยคือ จะบวชไปทำไม? โดยมากแล้ววัฒนธรรมไทยนั้นนิยมบวชเป็นประเพณีโดยมีความเชื่อว่าบวชแล้วพ่อแม่จะได้จับชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์บ้าง มีความเชื่อว่าเป็นการ "บวชเรียน" เพื่ออบรมบ่มนิสัยให้กลายมาเป็นฆราวาสที่ดี สามารถทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวและดำเนินชีวิตในสังคมต่อไปได้อย่างปกติสุข ฯลฯ 

ไม่ว่าเป้าหมายจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม อยากฝากว่าผู้บวชเองควรจะเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นที่จะบวช และเมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติอย่างดี ประโยชน์ก็จะตกไปอยู่ที่ตัวผู้บวชเป็นอย่างมากครับ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาธรรม นั่งกัมมัฎฐาน การฝึกตนและระเบียบวินัย ฯลฯ ถ้าตั้งใจแล้วจะได้ประโยชน์มากจริงๆ และเมื่อเจ้าตัวปฏิบัติดีปฏิบัติชอบภายหลังจากสึกออกมาแล้ว ก็น่าจะได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนรอบตัวเขาต่อไปเรื่อยๆ อันนับได้ว่าเป็นประโยชน์อย่างหาที่สุดมิได้อีกโสตครับ

เรื่องที่สองก็คือ จะมีพิธีรีตองบวชกันอย่างไร? ต้องบอกก่อนเลยว่าวัดนี้จะไม่ได้มีพิธีบวชแบบที่เราๆท่านๆอาจจะคุ้นเคยกันมา อาทิ การแห่นาค การโปรยทาน ฯลฯ นะครับ เพราะที่นี่เค้าถือว่าในสมัยพุทธกาลเองผู้บวชก็ไม่ต้องทำพิธีอะไรมากครับ แค่ให้พระพุทธเจ้าบอกรับ หรือหมู่สงฆ์สวดรับก็พอแล้ว เอามาแต่ความตั้งใจดีที่จะบวชครับ พิธีการอะไรนั่นเป็นแค่เปลือก มิใช่แก่นแต่อย่างใด (แต่จะได้ร่วมงานบวชหมู่ที่มีผู้บวชเยอะมากๆเป็นอันดับต้นๆในประเทศเลยก็ว่าได้ครับ)

เมื่อพิธีการอะไรไม่ยุ่งยากลำบากมาก ค่าใช้จ่ายก็ลดลงตามไปด้วยครับ บวชบางวัดอาจใช้เงินหลักหมื่นขึ้นไป แถมญาติโยมอาจต้องมาเหนื่อยเตรียมงานเตรียมอาหารสารพัด แต่ที่นี่ไม่ต้องคิดมากครับ ทางวัดจะจัดการเรื่องอาหารวันพระบวชให้เองไม่ต้องลำบากญาติโยม ส่วนเรื่องปัจจัยสนับสนุนไม่ใช่ปัญหาครับ อยู่ที่ราคา 3,000 บาท โดยทางวัดจะช่วยดำเนินการจัดหาเครื่องอัตถบริขาร อาทิ จีวร บาตร ซึ่งคุณภาพดีทีเดียวครับ และไม่ต้องไปหาซื้อให้วุ่นวาย ส่วนใครที่ไม่มีปัจจัยก็สามารถบอกทางวัดได้ตรงๆ ทางวัดก็ยินดีสนับสนุนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายครับ แต่ใครที่สามารถสนับสนุนได้ก็อยากให้สนับสนุนครับ ให้ทางวัดช่วยอุดหนุนผู้ที่เดือดร้อนหรือจำเป็นจริงๆละกันนะครับ (ส่วนใครอยากทำบุญกับทางวัด ก็สามารถบริจาคสมทบทุนเครื่องอัฏฐบริขารนี้ให้กับภิกษุรูปอื่นได้เช่นกันครับ)

สรุปคือ วัดนี้เหมาะสำหรับ 
- ผู้ที่อยากบวชเรียน มีจิตศรัทธา หรืออยากศึกษาพระธรรม (มีคาบเรียน) 
- ผู้ที่ไม่อยากรบกวนญาติโยมเหนื่อยไปกับการจัดงาน 
- ผู้ที่ไม่นิยมพิธีกรรมที่มากมาย อาทิ การแห่นาค 
- ผู้ที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการบวช
- ผู้ที่อยากไปปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ ไชยา (บวชครบ 15 วัน ไปได้เลยครับ แต่ต้องไป 10 วันนะ)

(2) อยากบวชแล้วทำยังไงดี

ง่ายๆครับ เข้าไปที่ http://www.watchol.org/ (เว็บไซต์ทางการของวัด) แล้วเข้าไปหากำหนดการบรรพชาอุปสมบทครับ ซึ่งปกติแล้วจะเปิดให้สมัครทุกวันอาทิตย์ที่สองของเดือน (เช่น อยากบวชเดือนเมษา ก็ไปสมัครเดือนมีนา) โดยจะเปิดให้บวชตั้งแต่เดือน ม.ค. - มิ.ย. และ พ.ย. - ธ.ค. ครับ (เดือนที่ว่างเว้นไว้คือรุ่นจำพรรษา จริงๆขอบวช 15 วันได้ครับก่อนถึงวันเข้าพรรษา โดยไม่ต้องกล่าวคำขอจำพรรษา แต่หลังวันเข้าพรรษาแล้วเหมือนจะไม่ได้แล้วครับ ไม่รับเพิ่ม)

จำนวนวันขั้นต่ำในการบวชคือ 15 วันครับ (ใครอยากบวชเกิน ได้ครับ จัดไป พระท่านไม่ว่าอะไร)

บางท่านอาจสงสัยว่าบวชแค่ 15 วันมันจะไปได้อะไร อันนี้อยู่ที่การปฏิบัติของแต่ละท่านครับ ถ้าตั้งใจจริงๆ 15 วันมันก็มีผลดีมากๆ บางทีบวชหลายเดือนแต่เข้าเกณฑ์ "เช้าเอน เพลนอน บ่ายพักผ่อน เย็นจำวัด ดึกสงัดซัดมาม่า" (ท่อนนี้จำมาจากพระอาจารย์ครับ 555+) อย่างนี้ก็ไม่ได้อะไรครับ ของอย่างนี้มันแล้วแต่บุคคลจริงๆ แหะๆ

ถ้าตั้งใจจะบวชแล้วรีบแพลนไว้ล่วงหน้าเลยนะครับ จะได้ไม่พลาด (รุ่นนึงตกประมาณตั้งแต่แปดสิบรูป จนถึงรุ่นผมที่ 177 ครับ! (อีกสองท่านไม่ได้อุปสมบทพร้อมกัน) ถ้าไม่อยากบวชเยอะแนะนำให้หลีกเลี่ยงเดือนพฤษภา-มิถุนาไปเลย)

(3) เตรียมตัวเตรียมใจ

หลังจากดูแล้วว่าจะไปบวชช่วงไหน ก็ไปวัดวันรับสมัครเลยครับ โดยเค้าจะให้ไปนั่งรอที่โรงเรียนพุทธธรรมครับ จากนั้นก็จะให้กรอกใบประวัติ (แนะว่าให้เขียนลายมือดีๆ อ่านออกนะครับ) แล้วพระครูปลัดวิมลสิริวัฒน์ (หลวงพ่อสมชาย) ท่านก็จะเอาใบประวัตินั่นแหละมาเรียกพวกเราไปรายงานตัวทีละคน โดยเราจะรายงานประวัติส่วนตัวคร่าวๆ เช่น ชื่ออะไร อายุเท่าไหร่ เรียนจบที่ไหนมา ทำงานที่ไหน จะบวชกี่วัน บวชทำไม ราวๆนี้

ลืมบอกไปครับว่าวัดนี้เน้นเรื่องตรงต่อเวลามาก ไปสายโดนตัดสิทธิ์สมัครทันที (รวมถึงวันอื่นๆด้วยนะ)

แนะนำให้ตัดเล็บไป ทำผมเผ้าให้ดูเรียบร้อย ที่เจาะหูก็เอาออกนะครับ อะไรก็ตามที่สามารถทำให้ถูกเพ่งเล็งได้ก็เอาออกไป เพราะไม่งั้นโดนหลวงพ่อท่านสวดยับแน่ (แต่จริงๆท่านใจดีมากครับ ที่ดุก็ดุไปงั้น เพราะคนมาสมัครเยอะมาก + ถ้าไม่ดุแต่แรกคนมาบวชก็จะไม่กลัว) บางรายอาจถูกถามมากหน่อยก็ไม่เป็นไร ตอบไปตามเรื่องเดี๋ยวท่านก็ให้กลับไปนั่งที่เอง

ลืมบอกไปอีกครับว่า ใครมีรอยสักจะถูกเรียกมาสกรีนก่อน ซึ่งสมัยก่อนเข้มงวดมากถึงขนาดไม่รับคนที่สัก แต่เดี๋ยวนี้เท่าที่ผมเห็นก็รับนะครับ แต่แค่เอามาสกรีนกันก่อนว่ามันมากน้อยขนาดไหนเท่านั้นเอง (เค้าเน้นตรงไหล่และแขนขวาครับ ถ้าไม่มากมายอะไรก็น่าจะได้อยู่)

จากนั้นจะชี้แจงรายละเอียดวันสอบครับ (ใช่ครับ สอบ!) แต่เป็นการสอบท่องบทคำขอบรรพชาอุปสมบท ซึ่งจะทำการสอบในอาทิตย์ถัดไป โดยท่านจะชี้แจงรายละเอียดวันสอบ กับรายละเอียดวันปลงผมและบวชแบบคร่าวๆต่อไป จากนั้นก็แจกบทคำขอบรรพชาอุปสมบท (เอสาหังฯ) แล้วมีการซ้อมว่าตรงไหนอ่านอย่างไร แล้วก็จบแล้วครับสำหรับวันสมัคร

และต้องเตรียมเอกสารการสมัครมาให้ครบด้วยนะครับ รวมถึงตรวจสุขภาพ - ตรวจเลือดด้วยน่ะ (ตามลิงค์นี้ http://www.watchol.org/download/document/item/application-for-ordination-all?category_id=1)

สำหรับปัจจัยค่าบวช ที่นี่คิด 3,000 บาทครับ สำหรับเป็นค่าไตรจีวร และบาตร เพื่อที่ทางวัดเองก็สามารถซื้อได้ในราคาย่อมเยาขึ้น ตลอดจนให้เครื่องบริขารของทุกคนเหมือนกัน และที่สำคัญคือ ญาติโยมจะได้ไม่ต้องไปลำบากหาซื้อมาครับ แถมเวลาไปซื้อเนี่ยจะได้ไม่ต้องไปซื้อเครื่องบริขารที่ไม่น่าจะได้ใช้ (เช่น มีดโกน เข็ม ที่กรองน้ำ) ครับ (ส่วนใครที่ไม่มีปัจจัย บอกทางวัดได้โดยตรงครับ)

สำหรับท่านที่ต้องการเตรียมตัวล่วงหน้า เข้าเว็บไซต์วัดตามเคยได้ที่นี่ครับ http://www.watchol.org/download/document/item/khan-nak และสำหรับท่านที่สงสัยว่าคำไหนท่องยังไง หรือมีเวลาเตรียมตัวน้อย ก็ไปโหลดไฟล์เสียงมาได้ครับตามลิงค์นี้ http://www.watchol.org/download/mp3 ซึ่งตัวผมเองก็ทั้งท่อง ทั้งฟังครับ เพราะมีเวลาแค่อาทิตย์เดียวก่อนสอบ (แต่ท่านใดมีธุระ ทำงาน ฯลฯ แนะนำว่าเตรียมตัวมาแต่เนิ่นๆครับ)

วันสอบก็ไม่มีอะไรมากครับ ไปนั่งรอเหมือนเดิม ถึงเวลาท่านจะให้กรอกใบสมัครบวช และเรียกไปสอบเป็นชุดๆ กับพระอาจารย์ท่านต่างๆ งานนี้ก็ต้องมาวัดกันละครับว่าใครซ้อมมาดีแค่ไหนอะไรยังไง

เสร็จแล้วก็เข้าแถวมอบเอกสารและปัจจัยค่าเครื่องบริขาร แล้วก็นั่งฟังคำชี้แจงรวมเกี่ยวกับรายละเอียดวันปลงผม และวันบวช เท่านี้ก็เรียบร้อยครับ

(4) ก่อนบวชจริงต้องเตรียมอะไรบ้างนะ

สิ่งแรกที่ต้องรู้คือ วันปลงผมกับวันบวชเป็นคนละวันกัน โดยเจ้านาคจะต้องมาปลงผมและอยู่วัด 1 คืนก่อนวันบวช สิ่งที่ต้องเตรียมไปมีดังนี้ครับ

- เสื้อเชิ้ตสีขาว 1 ตัว (แขนยาวก็ดีครับ แต่ถ้าไม่มีใส่แขนสั้นก็ไม่เป็นไร)
- เข็มขัด 1 เส้น (ต้องมั่นใจนะครับว่ารัดกับผ้านุ่งแล้วจะไม่หลุด เพราะวันบวชจะต้องนุ่งผ้านุ่งขาวของทางวัดไปบวช)
- ของใช้ทั่วไป (สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน มีดโกนหนวด ผ้าเช็ดตัว ยาประจำตัว ช้อนส้อม รองเท้าแตะ หมอน ผ้าห่ม มุ้งครอบ (ถ้ามี) ไฟฉาย (ถ้ามี) )
- ถ้ามีจิตศรัทธาและกำลังทรัพย์ แนะนำซื้อผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน สก็อตไบรท์ ไปครับ (ไว้ซักจีวร ล้างบาตร ซื้อมาก็เอาไปแบ่งๆกันใช้ ถ้าเหลือก็ถวายวัดครับ จะได้ไม่ลำบากวัดด้วย)
- เงินไม่ต้องเอาไปครับ ไม่ได้ใช้อะไรเลยจริงๆ (และมักจะมีขโมยมาอยู่เนืองๆ)
- มือถือก็ไม่ต้องเอาไปครับ ห้ามใช้ เอาไปโดนยึด
- ในคืนแรกหลังปลงผมอาจเบื่อเพราะว่างจนไม่รู้จะทำอะไร แนะนำให้เอาหนังสือธรรมะไปซักเล่มแก้ว่างครับ 

ถ้าใครคิดว่าอาจจะแพ้ความร้อน ฝุ่น จีวรใหม่ หรืออะไรก็ตาม แนะนำเลยครับ ซื้อยาผงโยคี/ผงวิเศษอะไรพรรค์นี้ไปเตรียมเลย เพราะผมโดนมาแล้วครับช่วงแรกๆที่บวช ทรมานมากกับอาการคัน ถ้าไม่ได้เด็กวัดเอายาผงโยคีมาให้นี่ก็คงทรมานนานกว่านี้ครับ (ใช้ได้ผลจริงๆครับ แนะนำๆ) 

สำหรับวันปลงผมก็ไม่มีอะไรมากครับ นัดเจอกันที่โรงเรียนพุทธธรรมเหมือนเดิม แต่เค้าจะมีเรียงเลขที่เอาไว้ตามเก้าอี้ (เรียงตั้งแต่ภันเต 1 ถึงสุดท้าย โดยเรียงจากอายุครับ) แล้วรอรับเครื่องบริขาร + เสื่อ ก็เอาไปฝากญาติโยมไว้ จากนั้นก็กลับมานั่งรอเรียกไปจับคู่รูมเมท จับฉลากห้องในกุฎิ แล้วก็พากันเอาเครื่องบริขารไปกุฎิเลยครับ (อันนี้ผมแนะนำว่าให้เอาของใช้ส่วนตัวที่เตรียมมาจากบ้านไปด้วยเลย เพราะมันจะหาเวลาเอาเข้าไปทีหลังยากแล้ว แหะๆ)

เมื่อเข้าไปก็ไปวางของ อาจจะทำความสะอาดหรือไม่อันนี้แล้วแต่ท่านเลยครับ จากนั้นก็ออกมาโกนผมที่ลานสนามหญ้าในกุฎิ จะมีหลวงพี่หลายๆรูปคอยเราอยู่ จากนั้นก็ฟอกสบู่ที่ผมเยอะๆไม่ต้องล้าง ถือขันใส่น้ำไปขันนึง แล้วเข้าไปโกนเลยครับ (ท่านไหนจะให้พ่อแม่หรือใครตัดผมตรงนั้นก็ทำก่อนไปนั่งโกนนะครับ ผมเข้าไปนั่งคนแรกเจอโกนเลยไม่มีรีรออะไร ที่นี่ไม่เน้นพิธีกรรมจริงๆครับ)

เสร็จแล้วก็ล้างหัวแล้วรอเรียกรวมที่ลานหินโค้งครับ ถึงตรงนี้จริงๆบอกลาญาติพี่น้องไปได้เลยหลังโกนหัว โดยจะมีการซักซ้อมพิธีการบรรพชา (บวชเณร) และอุปสมบท (บวชพระ) ครับ แล้วก็จะย้ายไปดูสถานที่อุปสมบทที่โบสถ์เพื่อซักซ้อมอีกที เสร็จแล้วก็กลับไปประชุมรวมที่กุฎิครับ โดยพระอาจารย์ก็จะนัดแนะไปว่าจะต้องทำอะไรบ้างในวันบวช คิดเอาไว้เลยนะว่าจะไปพูดอะไรกับคุณพ่อคุณแม่ ฯลฯ อะไรประมาณนี้ จากนั้นก็แยกย้ายเข้าห้องของตนเพื่อพักผ่อนครับ (วันนี้มีอาหารเย็นให้กินอยู่ครับ)

*******

สำหรับวันบวช ก็เริ่มตื่นกันตอนตีสี่ครับ เรียกรวมกันตอนตีห้ามาดูความเรียบร้อยของเครื่องแต่งกาย (เสื้อเชิ้ตขาวกับผ้านุ่งขาว) แล้วก็กินข้าวเช้า (มีข้าวต้ม ไข่เจียว ยำผักกาดดองอะไรไปตามเรื่อง) ประมาณหกโมงก็เดินออกไปลานหินโค้งครับ เพื่อให้ไปลาขอขมาพ่อแม่ญาติโยม (ท่านแนะว่าให้คุณพ่อถือบาตร คุณแม่ถือไตรจีวร แล้วก็กราบตามสมควร) ตอนขอขมานี่ก็ไม่รู้จะพูดอะไรครับ ก็ขอโทษขอขมาและจะเปลี่ยนเป็นคนใหม่หลังจากบวชเสร็จแล้ว จากนั้นก็จะเรียกตัวมาทำพิธีบรรพชา (บวชเณร) ครับ ซึ่งสามารถบวชหมู่ได้ (แต่บวชพระต้องเข้าไปทำพิธีครั้งละ 3 คนเท่านั้น) 

พิธีไม่มีอะไรซับซ้อนครับ ก็ท่องอะไรไปตามที่ซักซ้อมกันมา (บทเอสาหัง บทบรรพชา และคำขอศีล 10 ใช้ตอนนี้ครับ) เสร็จแล้วก็ทยอยไปให้พระอุปัชฌาย์คล้องสายอังสะ (เสื้อตัวในของพระ) แล้วก็เดินไปจุดเปลี่ยนชุดครับ จะมีพระอาจารย์คอยช่วยเปลี่ยนชุดจากชุดขาวเป็นจีวร จากนั้นก็เข้าไปรวมเพื่อฟังพระอุปัชฌาย์เทศน์เรื่องกัมมัฎฐานทั้งห้า (พิจารณาความไม่น่าดูของเส้นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง - ตามบทที่ท่องว่าเกสา โลมาฯ นั่นแหละครับ) เสร็จแล้วก็ให้ไปพบปะกับญาติโยมถ่ายรูปอะไรกันไปตามเรื่อง (ส่วนสามสิบท่านแรกก็จะได้เข้าไปบวชในอุโบสถก่อน) จากนั้นก็ฉันเพลกันแถวนั้น เรื่องอาหารการกินของญาติโยมไม่ต้องเป็นห่วงครับ เขามีจัดซุ้มอาหารคาว-หวานเสร็จสรรพไม่ต้องไปลำบากทำเอง (เริ่มตั้งตั้งแต่ราวๆเก้าโมงเช้า) เสร็จแล้วก็ไปลาพ่อแม่ญาติโยมให้เรียบร้อยครับ (เพราะกว่าจะเสร็จก็ค่ำๆ รุ่นผมมีด้วยกัน 175 ท่าน ก็เสร็จชุดสุดท้ายตอนเกือบตีหนึ่งกันไป) 

สำหรับสามเณรที่รอเข้าโบสถ์ไปบวช ก็จะถูกพาไปสอนนุ่งห่มจีวรแบบโปรครับ ตอนเรียนเรียกได้ว่าเกิดความท้อแท้มาก เพราะทำเท่าไหร่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ซักที แต่หัดๆลองๆไปเดี๋ยวมันจะจับเคล็ดได้เองครับไม่ยากขนาดนั้น เป็นเครื่องแบบที่ว่ากันว่าวิธีห่มนั้นมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลเลยทีเดียว

เมื่อได้เวลารอบบวชของตนก็ไปเลยครับที่อุโบสถ บรรยากาศเงียบสงบและเกร็งพอสมควร ขั้นตอนไม่มีอะไรมากครับพระอุปัชฌาย์ท่านจะแนะให้เราก่อนรอบนึงว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งคนบวชหลังๆก็คอยดูคนหน้าๆเขาทำก่อนเป็นตัวอย่างได้ครับ จากนั้นก็จะทยอยขึ้นไปชุดละสามรูป คลานเข่าเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ ท่องบทคำขอนิสสัย พระอุปัชฌาย์ก็จะบอกฉายาพระแต่ละรูป จากนั้นก็กล่าวคำบอกเครื่องบริขารต่างๆเพื่อบอกย้ำว่ามันคืออะไรไว้ทำอะไร (จีวร สังฆาฎิ สบง บาตร) เราก็ว่า "อามะภันเต" (ใช่ครับ) จากนั้นก็กราบ แล้วเดินเรียงหนึ่งตามคนซ้ายมือไปใกล้ๆประตูโบสถ์ พระคู่สวดอีกสองรูปจะมาเพื่อ "ซักซ้อม" การตอบคำถามกับพระอุปัชฌาย์ครับ โดยจะถามเริ่มจากคำว่า "กุฏฐัง?" (เป็นเรื้อนใช่มั้ย?) เราก็ตอบว่า "นัตถิภันเต" (ไม่ใช่ครับ)[1] ตอบไปเรื่อยๆจนกว่าพระท่านจะถามว่า "มนุสโสสิ?" (เป็นมนุษย์ใช่มั้ย?) อันนี้ให้ตอบรับว่า "อามะภันเต" ก็ตอบไปเรื่อยๆจนจบ จากนั้นท่านจะสวดไปเรื่อยๆจนถามว่า "กินนาโมสิ?" (เธอชื่อว่าอะไร) ก็ตอบไปว่า "อะหัง ภันเต อายัสมา (ฉายาพระ) นะมะ" ครับ เป็นอันเสร็จการซ้อมหน้าประตูโบสถ์ จากนั้นพระท่านก็จะเรียกให้เข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ ก็ท่องบทคำขออุปสมบทไป และทำซ้ำตามกระบวนการเดิมที่ซ้อมเมื่อหน้าประตูโบสถ์ก็เสร็จครับ (รอบแรกเป็นเหมือนการซ้อม รอบสองคือของจริง อย่าเผลอทะลึ่งไปตอบผิดละครับ เค้าเตะออกจากโบสถ์ไม่รู้ด้วย 55)

(ดูว่าคำแปลของ "คำถามอันตรายิกธรรม" มันคืออะไร และต้องตอบอย่างไร ตามลิงค์นี้เลยครับ http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1)

เสร็จแล้วก็ไปนั่งหลังพระอุปัชฌาย์จนเสร็จครับ ท่านก็จะมาให้โอวาทเราเกี่ยวกับอนุศาสน์ 8 (นิสสัย 4 - สิ่งที่ทำได้ไม่มีใครติเตียน กับ อกรณียกิจ 4 - สิ่งที่ห้ามทำเด็ดขาด) ซึ่งเราต้องมาเอาใจใส่สี่อย่างหลังครับ เพราะทั้งหมดอยู่ใน "ปาราชิก" (อาบัติแบบที่ขาดจากความเป็นพระทันที) ก็ให้ระวังกันไปครับ จากนั้นก็ออกมาจากโบสถ์กลับกุฎิ พระท่านก็จะสอนพินทุผ้า (ทำเครื่องหมายเฉพาะตนเพื่อไม่ให้ผ้าสลับกัน) จากนั้นก็ให้พักผ่อนตามอัธยาศัยครับ รอคอยวันแรกของการเป็นพระภิกษุต่อไป (อ้อ วันแรกยังไม่ต้องออกบิณฑบาตครับ เค้าจะฝึกห่มจีวรให้มั่นใจก่อนแล้วค่อยให้ออกบิณฑบาตในวันต่อไปครับ)

ทั้งหมดนี้คือการเตรียมตัว และรายละเอียดสำหรับวันสมัคร วันสอบ วันปลงผมและวันบวชครับ สำหรับตอนต่อไปจะเป็นรายละเอียดชีวิตความเป็นอยู่และกิจวัตรของพระนวกะ (พระบวชใหม่) กันต่อไปครับ!

Note

[1] ภาษาบาลีเป็นภาษาตระกูล Romance เหมือนกับภาษาอังกฤษ ละติน ดังนั้นจะมีบางคำที่มีที่มาเดียวกัน เช่นคำ "นัตถิ" (แปลว่า ไม่) ภาษาอังกฤษคือ "nothing" ครับ คำว่า "เม" ภาษาอังกฤษคือ "me" แปลว่าตัวฉัน เป็นต้น