วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ทำไมเราจึงควรรู้ธรรมะสุดท้ายของพระพุทธเจ้า?

หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิโว - ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนทั้งทั้งหลายว่า
วะยะธัมมา สังขารา - สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
อัปมาเทนะ สัมปาเทถะ - ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมาวาจา - นี้เป็นพระวาจามีในครั้งสุดท้าย ของพระตถาคตเจ้า
         ปัจฉิมพุทโธวาท (โอวาทสุดท้ายของพระพุทธเจ้า) (สวดมนต์แปลแบบสวนโมกข์, 33)
ถ้าจะถามว่าไปบวชเรียนมาแล้ว ได้ธรรมะอะไรติดมามากที่สุด ก็สามารถกล่าวได้ว่าบทปัจฉิมพุทโธวาทนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สุด และจำบทสวดและแปลได้อย่างแม่นยำมากทีเดียว

แต่ทำไมเราถึงควรรู้ละ? แล้วมันสำคัญไฉน? ทำไมไม่พูดเรื่องหลักธรรมสำคัญอื่นๆ อย่างเช่นอริยสัจ 4 มรรคมีองค์ 8 หรือโอวาทปาฎิโมกข์กันนะ?

คำตอบง่ายๆคือ ผมยังไม่มีปัญญาแก่กล้าจะไปอธิบายเรื่องที่ผมยังไม่เข้าใจได้ถ่องแท้แบบนั้นครับ แหะๆ อุปมาเหมือนกับว่าเรียนมายังไม่ครบคอร์ส เรียนมาแค่ทฤษฎี แต่ภาคปฏิบัติยังไม่มี

และที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดคือ ในความเห็นของผมแล้ว (อาจจะผิดก็ได้นะครับ) สิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสทิ้งไว้ก่อนดับขันธ์ปรินิพพานไป น่าจะเป็นจุดตั้งต้นในการทำความเข้าใจถึงความสำคัญของการศึกษาและปฏิบัติธรรม เพราะถ้าเราเข้าใจจุดนี้แล้ว ผมเชื่อว่าน่าจะช่วยสร้างศรัทธาต่อการปฏิบัติในกาลต่อไป ไม่ว่าจะปฏิบัติเพื่อมุ่งยังความหลุดพ้น หรือกระทั่งการเปลี่ยนแปลงนิสัยส่วนตัวของเราได้ไม่มากก็น้อยทีเดียวครับ

พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่าอะไร?

ในพระพุทธวจนสุดท้ายนี้ สิ่งที่พระองค์ท่านตรัสสอนนั้นฟังดูเรียบง่ายมาก แต่จริงๆนั่นคือแก่นหลักธรรมที่พระองค์สรุปเอาไว้ในประโยคเดียว ซึ่งอาจแปลแบบลวกๆได้ว่า "สังขารทั้งปวงนี้ไม่เที่ยง ดังนั้น ท่านจงไม่ประมาทเถิด"

การแปลแบบข้างบนนี้แบบเรียนพุทธในโรงเรียนมัธยมทั้งหลายเขาเรียนกันอย่างนี้ และท่องเพื่อเอาไปตอบข้อสอบว่า ธรรมะสุดท้ายที่พระองค์สอนนั้น คือ "อัปมาทธรรม" ซึ่งว่าด้วยความไม่ประมาท

ว่าแต่ไม่ประมาทอะไรครับ?

ตรงนี้เป็นช่องโหว่ที่ข้อสอบ (และหนังสือเรียน) ไม่ได้ตอบคำถามว่า อืม ไม่ประมาทอย่างไร? เหมือนกับอย่าประมาทในการขับรถหรือเปล่า? ทำให้ผู้เรียนอย่างเราๆท่านๆ ก็ท่องจำไปตอบข้อสอบโดยไม่รู้ว่าตกลงไม่ประมาทอะไรกันนะ และพาลหลงลืมธรรมะข้อนี้ไปเสีย

ต่อคำถามในข้อนี้นั้น พระอาจารย์ท่านหนึ่งได้สอนว่า การ "ยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม" จริงๆความหมายก็คือ "จงทำให้ความไม่ประมาทเกิดขึ้น" (ซึ่งหมายความว่า ความไม่ประมาทตอนแรกเนี่ย เรายังไม่มีหรอก เราใช้ชีวิตกันอย่างประมาททั้งนั้น จึงต้องทำให้มันเกิดขึ้น)

สรุปสั้นๆเลยก็คือ "จงมีสติทุกเมื่อ" นั่นเอง!

*******

ถามต่อไปอีกว่า แล้วทำไมถึงต้องมีสติทุกเมื่อเล่า?

คำตอบก็คือ เพราะเราควรที่จะทำอะไรซักอย่างเพื่อหลุดพ้นไปจากวัฏสงสารอันน่าเบื่อหน่ายนี้ การมุ่งเพื่อความหลุดพ้นคือแก่นพระพุทธศาสนา ไม่ใช่การทำบุญทำทานเพื่อหวังจะไปเป็นเทวดาในชาติหน้า (พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มนุษย์เราเกิดมาเนี่ยต่างคนต่างก็ได้เป็นพ่อแม่ ลูก เพื่อน คู่ชีวิต ของคนอื่นๆมานับไม่ถ้วน เวียนไปเวียนมาไม่สิ้นสุด) ต่อให้ได้ไปเสวยสุขในสุคติภูมิ (โลกมนุษย์ สวรรค์ พรหมโลก) ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะไปตกอยู่ในอบายภูมิได้ (นรก เปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน) วนเวียนไปไม่สิ้นสุด

ยัง ยังไม่พอ ถ้าเวียนไปเวียนมาแล้วจับพลัดจับผลูมีชาตินึงเกิดเป็นมนุษย์ เผลอไปฆ่าเจ้ากรรมนายเวรตัวเองที่มาเกิดเป็นพ่อแม่ตน ก็ถือว่าประมาทจนก่ออนันตริยกรรมเกิดขึ้น (กรรมหนักที่สุดในกระบวนกรรมทั้งหมด) ลองคิดดูเอาว่าจะต้องตามไปเสวยทุกขเวทนากันขนาดไหน

ทั้งหมดนี้เกิดจากการที่เราประมาทในชีวิต ประมาทว่ามันคงไม่มีอะไรแบบนี้หรอก หรือประมาทว่ายังเหลือเวลาอีกเยอะ ไว้แก่แล้วค่อยมาคิดเรื่องพวกนี้

จริงๆสุดท้ายแล้ว พระพุทธเจ้าท่านหวังให้สัตว์โลกได้มีโอกาส "เจริญสติ" เพื่อเป็นเหตุให้ใกล้กับปัญญาในการพิจารณาความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง และความไม่มีตัวตนของสรรพสิ่ง เพื่อความหลุดพ้น ซึ่งการเจริญสตินี้ถือได้ว่าเป็นการไม่ประมาทในชีวิต เหมือนเป็นหลักประกันได้ว่าถ้าท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ด้วยการมีศรัทธา มีศีล และปฏิบัติจริงๆจังๆแล้ว ก็จะไม่ต้องลงไป "วัดดวง" ในอบายภูมิ และวนเวียนอยู่แต่ในสุคติภูมิจนกว่าจะได้หลุดพ้นกันจริงๆ (เช่น พระโสดาบัน)

ดังนั้น ที่ต้องมีสติก็เพื่อมิให้เผลอไผลไหลตามวงเวียนชีวิตเหล่านี้ และจะดียิ่งถ้าพยายามฝึกให้ได้ตลอดเวลา

Countdown ชีวิต

เมื่อกี้เพิ่งอธิบายแค่ท่อน "ไม่ประมาท" เท่านั้นครับ ยังไม่ได้อธิบายท่อน "สังขารมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา" เลย

พูดง่ายๆก็คือ สังขาร (ร่ายกาย จิตใจ) ของเราทุกวันนี้ มันมีเกิดดับตลอดเวลา และจะตายวันตายพรุ่งก็ยังไม่รู้

ขอให้ลองนึกดูเอาไว้ในทุกวันเกิดของเรา นอกจากจะเป็นวันรำลึกการเฉียดตายของคุณแม่ของเราแล้ว ก็ยังเป็นวันที่ชวนให้เรานึกถึง "เวลาที่ยังเหลือ" ของพวกเราอีกด้วย

เปรียบเหมือนนาฬิกาจับเวลา เราเหลือเวลากันน้อยลงทุกทีๆไปแล้ว เหมือนกับที่ท่านสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชท่านได้เขียนเอาไว้ในหนังสือเล่มบางๆน่ารัก ชื่อ "ชีวิตนี้น้อยนัก" ว่า ชีวิตมนุษย์นี้สั้นนัก พวกเราได้ทำอะไรดีๆเอาไว้กันบ้างหรือยังนะ?

เมื่อเราเข้าใจความหมายของท่อน "สังขารไม่เที่ยง" และ "จงมีสติอยู่เสมอ" แล้ว ก็จะเข้าใจได้ในทันทีว่า ที่พระพุทธองค์พูดมานั้น ชอบแล้วด้วยเหตุผล ชอบแล้วด้วยการโน้มน้าวบุคคลให้ใฝ่หาทางหลุดพ้น!

"เพราะชีวิตทุกวันนี้เหลืออยู่น้อยนัก ก็จงรีบเจริญสติกันเถิด เพราะหลังจากนี้ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันในชีวิตได้อีกแล้วว่าจะไปเจออะไรหลังจากสิ้นลมกันไปแล้ว!"

*******

ถ้าดูในพระพุทธวจนะ (คำสอนจากพระโอษฐ์) ของพระพุทธเจ้าก็จะพบว่า พระองค์พูดถึงความน่ากลัวของความประมาทนี้ ผ่านการพูดถึงความยากลำบากในการเกิดมาเป็นมนุษย์!

- ท่านตรัสว่า อันปกติมนุษย์ที่บังเกิดมาแล้วนั้น มีอยู่เพียงฝุ่นธุลีดินจากทั่วทั้งพื้นปฐพีบนโลก ที่จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง! (สรุปจาก อริยสัจจากพระโอษฐ์ภาคต้น, พุทธทาสภิกขุและกองตำราคณะธรรมทาน, 7)

- ท่านตรัสว่า การบังเกิดขึ้นเป็นมนุษย์ของสัตว์จำพวกวินิบาต (สัตว์ที่ห้ำหั่นเคี้ยวกินกันเอง) นั้นยากนัก ยากยิ่งกว่าโอกาสที่เต่าตาบอดกลางมหาสมุทรที่ร้อยปีจะโผล่หัวมาพ้นน้ำสักที แล้วจะเอาหัวนั้นเข้าไปในกระบอกไม้ไผ่ที่ลอยเคว้งอยู่กลางมหาสมุทรนั้น! (สรุปจาก อริยสัจจากพระโอษฐ์ภาคต้น, พุทธทาสภิกขุและกองตำราคณะธรรมทาน, 101 - 102)

แล้วน่ากลัวอย่างไรเล่า - บางคนอาจจะคิดอย่างนั้น (เพราะบางคนอาจไปเสวยบุญเป็นเทวดา พรหม นิ)

ที่มันน่ากลัวก็เพราะอย่างที่บอกไปแล้ว ไปเป็นเทวดาหรือพรหม พอหมดบุญก็จะต้องไปภพภูมิอื่น อย่างดีก็เป็นมนุษย์ อย่างเลวก็อบายภูมิ ก็วนเวียนไปแบบงงๆต่อไป น่าเสียดายโอกาสที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์

และที่สำคัญก็คือ การเกิดเป็นมนุษย์นั้นสามารถสะสมบุญ รวมถึงเจริญภาวนาได้ดีกว่าเทวดา (เทวดาทำบุญไม่ได้ เจริญภาวนาไม่ได้เพราะรู้แต่ความละเอียดประณีต ต้องคอยอนุโมทนาจากมนุษย์เวลาทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา) ดังนั้นถ้าใครเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วไม่ทำสิ่งเหล่านี้ นอกจากจะถือว่า "เสียชาติเกิด" แล้ว ยังอาจนำไปสู่อบายภูมิอื่นๆอีกต่อไปไม่สิ้นสุดก็ได้

ดังนั้น การที่มนุษย์เรามีโอกาสน้อยที่จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง จึงน่ากลัวอย่างประมาณไม่ได้เลย!

เรื่องพวกนี้มีจริงหรอ?

บางคนอาจบอกว่า เห่ยเรื่องแบบนี้จะจริงหรอ ถ้าภพภูมิอะไรนี่ไม่มี ชีวิตนี้มีชีวิตเดียว การ "เจริญสติ" หรือแม้แต่ทำความดีนี่มันจะคุ้มกันหรอ???

เรื่องนี้ขอหยิบยืมความคิดของนักคณิตศาสตร์ชาวตะวันตก (Pascal) มาตอบครับ (http://en.wikipedia.org/wiki/Pascal's_Wager)


แนวคิดนี้ Pascal ได้ใช้ตารางแมทริกซ์แบบ 2 คูณ 2 เพื่อมาหาดูว่า อืม ทางเลือกที่ดูสมเหตุสมผล (rational) ในการใช้ชีวิตบนโลกนี้นั้นคืออะไร โดยที่มีความไม่แน่นอนว่าจะมีพระเจ้าอยู่หรือไม่ (ตรงนี้เราแทนค่าพระเจ้าตามแนวคริสตศาสนาด้วยภพภูมิครับ) และผลปรากฏก็คือ

- หากภพภูมิมีจริง และเราเชื่อ (ปฏิบัติดี เจริญสติ) ผลที่ได้จะประมาณค่ามิได้ (หลุดพ้น/ไม่ไปสู่อบายภูมิ)
- หากภพภูมิไม่มีจริง และเราเชื่อ ผลที่ได้คือเราอาจเสียเปรียบในชีวิต (เสียโอกาสได้ประโยชน์จากการเบียดเบียนคนอื่น เช่น โกงเงิน) แต่ก็ไม่แน่ว่าจะเสียเปรียบ เพราะอาจจะถือว่า "ทำดีเสมอตัว"
- หากภพภูมิมีจริง แต่เราไม่เชื่อ (ไม่ปฏิบัติดี หรือไม่เจริญสติ) ผลที่ได้คือเสียหายอย่างประมาณค่าไม่ได้
- หากภพภูมิไม่มีจริง แต่เราไม่เชื่อ ผลคือเราได้กำไรในชีวิต (จากการเบียดเบียนคนอื่น - แต่ก็ไม่แน่เสมอไป อาจจะโดนคนอื่นแก้แค้น เดือดร้อนกว่าเก่าก็ได้)

ประเด็นคือ Pascal ให้ค่าอินฟินิตี้ กับ เลข 1 แทนจำนวนในการวิเคราะห์ครั้งนี้ ดังนั้นความเสี่ยงที่จะได้รับโทษจากการไม่เชื่อมีมากกว่าการเชื่อ (และปฏิบัติ - วัดจากค่าอินฟินิตี้) ซึ่งจะเห็นได้ว่าการที่เราเชื่อนั้น สมเหตุสมผลกว่าการไม่เชื่อ ไม่ว่าจะมีภพภูมิ (พระเจ้า - ในบริบทที่ Pascal ใช้วิเคราะห์) จริงหรือไม่ครับ!

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะมีข้อถกเถียงจากบางคนต่อการวิเคราะห์นี้ของ Pascal ก็ตาม แต่โดยส่วนตัวคิดว่าตัวอย่างนี้ก็น่าจะพอเป็นคำอธิบายที่พอใช้ได้สำหรับการตอบคนที่ไม่เชื่อเรื่องนี้ครับ

และอันที่จริง ถ้าคนที่ไม่เชื่ออยากจะพิสูจน์ว่าเรื่องแบบนี้มีจริงหรือไม่ เจริญสติแล้วหลุดพ้นหรือเปล่า ลงท้ายแล้วการพิสูจน์ก็คือการได้ลองมาเจริญสตินั่นแหละครับ ถือเป็นการทำการทดลองจริงๆ มากกว่าการนั่งคิดตามหลักตรรกะเหตุผล ซึ่งพระพุทธเจ้าเองก็ตรัสเอาไว้แล้วว่า บุคคลล้วนไม่อาจเข้าถึงธรรมได้หากใช้ตรรกะเหตุผลในการขบคิด

ตัวอย่างนี้จึงมีไว้เพื่อทำให้ผู้สงสัยได้คลายสงสัย มิใช่ความจริงแท้เชิงพุทธะใดๆครับ

บทส่งท้าย

เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า พระพุทธโอวาทสุดท้ายนี้นั้นเสมือนเป็นการ "กระตุ้นเตือน" ให้เราๆท่านๆอย่าได้หลงใหลในทางสุดโต่งทั้งสอง (ความยึดติดในกามสุข และความยึดติดในการปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นแบบสุดโต่ง) และให้ "ยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม" (เจริญสติ) อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนในชีวิตร่างกายจิตใจในการเป็นมนุษย์ของเรานี้

ส่วนวิธีการปฏิบัติ อันนี้ต้องเริ่มจากการศึกษา ขวนขวาย ของเราทุกคนเองครับ (ก็ไปศึกษาได้จากส่วนอื่นๆที่พระองค์เคยสอน หรือไปเรียนจากครูผู้รู้ต่างๆ)

แต่จะเห็นได้ว่า โอวาทสุดท้ายของพระองค์ ครอบคลุมสาระสำคัญของการเป็นมนุษย์ จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษา และทำความเข้าใจในฐานะ "จุดตั้งต้น" สำหรับการปฏิบัติธรรม หรือหันกลับมาพิจารณาตนเอง และเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทางที่ดี ที่เป็นสัมมา

พวกเราทั้งหลาย จึงควรยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด!

วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ข้อมูลการบวชวัดชลประทานฯแบบละเอียด (Part 3: เกร็ดเล็กน้อยจากการบวช (จบ) )

หลักจากตอนที่แล้ว (http://botsleepyboyz.blogspot.com/2014/06/part-2.html) ได้พูดถึงกิจวัตรประจำวันของพระนวกะ (พระบวชใหม่) ที่วัดชลประทานฯไปพอสมควรแล้ว คราวนี้ก็จะขอพูดถึงเกร็ดเล็กๆน้อยๆจากการบวชครับ เผื่อว่าจะเป็นความรู้ประดับไว้ หรือเผื่อว่าใครสนใจไปบวชก็จะได้ทำความเข้าใจแต่เนิ่นๆก็น่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยทีเดียว

(1) ไตรจีวร

จริงๆแล้วพระสงฆ์จะมีผ้าสามผืนไว้ห่มคลุมกาย อันได้แก่ 1)สบง (ผ้านุ่ง) 2)จีวร (ผ้าห่มคลุมร่าง) 3)สังฆาฎิ (ผ้าห่มคลุมเวลาอากาศหนาว) ซึ่งผ้าสังฆาฎิจะมีขนาดเหมือนจีวร และในเมืองไทยจะเอามาพาดไว้ที่ไหล่ซ้ายแล้วคาดด้วยผ้าอีกชั้น ใส่ไว้สำหรับเวลาลงอุโบสถ หรือโอกาสสำคัญๆครับ

สำหรับผ้าที่เป็นเหมือนเสื้อพระที่เรียกว่า อังสะ (หรือเสื้อตัวในของพระ) นั้นไม่ได้รวมอยู่ในไตรจีวรครับ แต่ก็จะใส่กันเอาไว้ครับ เวลาพระกวาดลานวัดก็จะใส่อังสะแทนห่มจีวรด้วย 

เวลาซักจีวรนี่พูดตรงๆเลยครับว่า เมื่อยมือมากกว่าจะบิดให้หมาด แต่ตอนตากนี่ลมพัดแป๊บเดียวก็แห้งแล้ว และตามหลักของศีล 227 ข้อแล้วห้ามตากข้ามคืนไว้กลางแจ้งครับ (เหตุผลคือกลัวเปียกแล้วไม่มีใส่) และถ้าจะตากข้ามคืนให้ตากในที่ร่ม และต้องรีบเก็บก่อนตะวันจะขึ้น มิฉะนั้นจะต้องอาบัติฐานไม่รักษาจีวรให้ดี ซึ่งกฏนี้เดาว่าเพราะในสมัยพุทธกาลผ้าหายาก พระเลยต้องรักษาให้ดีๆครับเพื่อประหยัดทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมต้องการจีวรใหม่ที่ประณีตกว่ามาใส่

ส่วนการนุ่งจีวรนี่เรียกได้ว่ากว่าจะนุ่งเป็นก็ท้อแท้ไปหลายตลบ และกว่าจะคล่องก็ตอนจะสึกเรียบร้อยแล้ว ส่วนเวลาดูพระอาจารย์ท่านนุ่งนี่เรียกได้ว่าจบมาจากสำนักเดียวกันเลยครับ เวลาห่มจังหวะสุดท้ายนี่เหมือนกันทุกรูปเลยทีเดียว และลักษณะการนุ่งแบบนี้พวกเราก็แซวกันว่าเป็นการนุ่งจีวร "แบบเดฟ" ซึ่งหลังๆพวกเราก็ฝึกหัดกันจนชำนาญขึ้นเพราะมันนุ่งแล้วมั่นใจว่าจะไม่หลุดกว่าห่มแบบโคร่งๆมากมายจริงๆ 55

การห่มจีวรนั้นจะมีการห่มด้วยกันสองแบบ แบบแรกคือ "ห่มเฉวียงบ่า" คือการห่มแบบปกติของพระครับ ที่จีวรจะสะพายแล่งจากไหล่ซ้ายลงไปรักแร้ขวา กับอีกแบบคือ "ห่มคลุม" คือการห่มแบบปกคลุมทั้งกายรวมถึงไหล่ขวา ซึ่งมักจะใช้ห่มตอนบิณฑบาตร หรือเดินทางไกลๆครับ แต่ทั้งสองแบบจะมีเทคนิคการห่มแบบเดียวกัน เรียกได้ว่าถ้าจับเคล็ดได้แล้วก็นุ่งห่มได้ทั้งสองแบบเองแหละครับ

             

                       ห่มแบบเฉวียงบ่า                                               ห่มแบบคลุม

(2) สังฆทาน

เรื่องนี้เป็นประเด็นฮอตฮิตมากของที่นี่ เรียกได้ว่าถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่หลวงพ่อท่านได้เทศนาเรื่องนี้ให้กับญาติโยมตลอด (ส่วนของพระนวกะเรานี่ครั้งเดียวก็เดินพอครับ) โดยจริงๆแล้วคำว่าสังฆทานนั้นหมายถึง การทำทานให้กับหมู่คณะครับ (สังฆะ แปลว่า หมู่คณะ) ซึ่งภาพในหัวขมองของเราก็มักจะคิดไปว่า เอ้อ ถวายสังฆทานคือการซื้อถังสีเหลืองๆ ใส่ของต่างๆนานาในนั้นจากร้านค้า แล้วเอาไปถวายวัดกะว่าพระท่านขาดเหลืออะไรก็จะได้ใช้ตามสมควร

แต่ปัญหาคือ เจตนาคนทำน่ะดี แต่ของที่พระได้รับไปนั้นได้ใช้จริงๆหรือไม่หนอ...

เรื่องของเรื่องก็คือ ของส่วนใหญ่ที่มาในถังสีเหลืองๆที่ขายตามร้านนั้น พระท่านได้ใช้จริงๆไม่กี่อย่างเท่านั้นครับ ของพวกเครื่องดื่มชงๆ (เก๊กฮวย มะตูม) เห็นเป็นกล่องแต่ข้างในมีอยู่หนึ่งซองสองซอง ที่ร้ายที่สุดก็คือผ้าอาบน้ำของพระครับ พระอาจารย์แกะออกมาจากถังให้ดูก็พบว่า อืม มันกว้างแค่ครึ่งหนึ่งของที่เราใช้กันนี่หว่า แล้วงี้พระท่านจะใช้นุ่งอาบน้ำกันจริงๆยังไงละนั่น เรียกได้ว่าพอมาถึงตรงนี้ก็รู้สึกว่าไม่ไหวจะเคลียร์แล้วกับถังพวกนี้ครับ

(มีพระรูปอื่นจากวัดอื่นก็นำมาแสดงให้ดูเหมือนกันครับ ตามนี้ http://www.youtube.com/watch?v=4uhuUt_F1d8 )

จริงๆแล้วเคล็ดของการทำสังฆทานก็ไม่น่าจะต่างจากทานทั่วๆไปหรอกครับ คือ ขอแค่เจตนาคนทำดีทั้งก่อนจะทำ ตอนทำ หลังทำ และที่สำคัญที่สุดคือการมี "ปัญญา" เพียงพอที่จะเล็งเห็นว่าทานที่เราทำไปนั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้รับได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกเลยครับที่ทางวัดจะได้รับสังฆทานมาเป็นกระดาษทิชชู่ ถุงขยะสีดำ อุปกรณ์ทำความสะอาด น้ำยาล้างจาน น้ำปานะ หรือปัจจัย ฯลฯ เนื่องจากว่าคนทำสังฆทานเค้ารู้ว่าพระท่านจำเป็นต้องใช้สิ่งของเหล่านี้ครับ อย่าไปยึดติดว่าทำสังฆทานต้องซื้อถังเหลือง ผมแนะนำว่าให้เราลิสต์รายการเองครับว่าพระท่านต้องใช้สอยของอะไรบ้าง จากนั้นก็ไปซื้อมาถวายเท่านั้นเองครับ คราวนี้แหละพระท่านได้ใช้ชัวร์ๆ

อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ การทำสังฆทานแบบไม่เจาะจงตัวบุคคลนี่พระท่านบอกว่าได้อานิสงส์มากกว่าการทำบุญเฉพาะเจาะจงตัวบุคคลครับ และถ้าเป็นไปได้ การทำบุญแก่คนหมู่มากไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม (ทำทานทั่วไปกับสถานสงเคราะห์ บริจาคเลือด ฯลฯ) ก็มีอานิสงส์ประมาณสังฆทานนี่แหละครับ ซึ่งถ้ามองในมุมเศรษฐศาสตร์เรื่องการจัดการทรัพยากร ผมว่าการทำทานให้กับคนหมู่มากนี่น่าจะมีประโยชน์ต่อสังคมมากๆครับ เพราะเมื่อคนเหล่านั้นได้รับทานมาแล้ว เขาก็มีกำลังพอที่จะทำประโยชน์ให้กับคนอื่นๆในสังคมต่อไปไม่สิ้นสุด ฉะนั้นถ้าทำสังฆทานกับพระแล้ว ก็อย่าลืมทำ "ทานหมู่คณะ" ในรูปแบบต่างๆดังนี้ด้วยก็จะเป็นการช่วยเหลือสังคมได้มากเลยละครับ

(3) ศีล 227 ข้อ

ตอนเด็กๆ ผมมักจะสงสัยเสมอว่า เอ๊ะ เราๆท่านๆมี ศีล 5 ให้รักษานี่ก็น่าจะครอบคลุมแล้วนะ พระท่านถือตั้ง 227 ข้อนี่คือมันจะมีอะไรให้รักษาอีกละเนี่ย แต่ก็ลืมๆไปไม่ได้คิดอะไรขึ้นมา

จนกระทั่งบวชเรียน

พออ่านหนังสือ "นวโกวาท" (โอวาทของพระนวกะ) เลยมาถึงบางอ้อครับว่า จริงๆแล้วศีล 227 ข้อเนี่ยไม่ได้พิสดารพันลึกอะไรเลย กลับเรียบง่ายและชวนให้ย้อนกลับมาดูตัวเองตลอดเวลาที่เป็นฆราวาสด้วยซ้ำ

ข้อใหญ่ใจความจริงๆก็คือ ในสองร้อยกว่าข้อนั้น ที่เหลือหลักๆแล้วคือ "การวางตัวของพระภิกษุ" ในอิริยาบถต่างๆเท่านั้นครับ

มาดูตามบทใหญ่ๆของศีล 227 ข้อกัน

- ปาราชิก 4 (ละเมิดแล้วขาดจากความเป็นพระ) ได้แก่ เสพเมถุน เอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้มา แกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย อวดอุตริมนุสสธรรม ที่ไม่มีในตน

- สังฆาทิเสส 13 (ละเมิดแล้วต้องอยู่กรรม - กักบริเวณ) เช่น แกล้งทำน้ำอสุจิเคลื่อน มีความกำหนัดแล้วจับต้องกายหญิง/พูดเกี้ยวหญิง ฯลฯ

- นิสสัคคียปาจิตตีย์ 30 (ละเมิดแล้วต้องปลงอาบัติกับพระรูปอื่น) ในบทนี้จะเน้นเรื่องการรักษาจีวร การรับเงินทอง การซื้อของด้วยเงินทอง และการรักษาบาตร

- ปาจิตตีย์ 92 (ละเมิดแล้วต้องปลงอาบัติ) ในบทนี้จะว่าด้วยเรื่องการสำรวมในวาจา ความประพฤติ การรับประทาน การไม่ฆ่าสัตว์ การสำรวมในอารมณ์ต่างๆ ตลอดจนการนุ่งห่มจีวร

- อธิกรณสมถะ 7 (เป็นข้อถกเถียงว่าด้วยช่องโหว่ของศีล 227 ข้อ เช่น เกิดเหตุที่พระภิกษุทำการใดๆที่เหมือนจะเป็นการไม่สมควร แต่ไม่ได้ระบุไว้ตรงๆในศีล ต้องให้หมู่สงฆ์พิจารณา)

จะเห็นว่า หลักๆที่ต้องรักษาเอาไว้คือ ศีล 10 การดูแลรักษาเครื่องบริขาร (จีวร บาตร) และการสำรวมระวังในความประพฤติและอิริยาบถต่างๆครับ สองร้อยกว่าข้อที่เพิ่มขึ้นมา ก็มาจากสองส่วนหลังนี่แหละครับ

แล้วทำไมพระภิกษุต้องสำรวมระวัง หรือต้องดูแลเครื่องบริขารกันขนาดนั้น?

อย่างแรกเลยก็คือ เครื่องบริขารในสมัยพุทธกาลนั้นหายาก (ลองคิดถึงสังคมเกษตรกรรมครับ กำลังแรงงานไม่ค่อยมี แถมไม่มีเครื่องจักร จะปลูกฝ้าย ทอผ้ากันได้ผ้าซักผืนนั้นจะยากลำบากขนาดไหน) ฉะนั้นการดูแลรักษาจึงเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ เพราะของมีจำกัดจริงๆ ถ้าไม่ระวังก็ไม่มีใช้ครับ ก็ไปลำบากเดือดร้อนญาติโยมเขาอีก ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือการฝึกให้รู้จักความสมถะครับ ไม่ไปหวังลาภผลว่าญาติโยมเขาจะมาถวายให้ มันก็ไปลำบากเขาอีกต่อนั่นแหละ

อีกเรื่องก็คือ พระภิกษุพึงสำรวมระวังความประพฤติก็เพื่อให้เป็นที่เลื่อมใสต่อผู้คนทั่วไป ถ้าประพฤิติทั่วไปแบบฆราวาสแล้ว เวลาสั่งสอนธรรมอะไรฆราวาสทั่วไปก็คงไม่เคารพ ไปน้อมนำเอาพระธรรมเข้ามาใส่ตัวแน่ๆ และที่สำคัญที่สุดคือ การสำรวมระวังกาย วาจา ใจ นี้คือการปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์ในตัวครับ ให้มีสติอยู่กับตัวเองตลอดเวลาอีกด้วย

ถ้าพูดง่ายๆเลยก็คือ ศีล 227 ข้อนี้มีไว้ให้สำหรับพระปฏิบัติเพื่อเป็นการ "ปฏิบัติธรรม" ตลอดเวลา อันเป็นเหตุปัจจัยให้ใกล้กับการปฏิบัติในขั้นสูงๆต่อไปนั่นเองครับ

(4) นิสสัคคียปาจิตตีย์

ที่แยกออกมาเป็นอีกหัวข้อเพราะสำคัญครับ พระนวกะหลายๆท่านอาจจะมีโอกาสเผลอแบบผมเมื่อครั้งตอนบวชวันแรกๆครับ แถมขั้นตอนการปลงอาบัตินี่ซับซ้อนกว่าปาจิตตีย์เล็กน้อย เลยขอเพิ่มเติมเพื่อจะได้ไม่ทำผิดพลาดเมื่อบวชเข้าไปแล้วครับ แหะๆ

ข้อแรกที่มีโอกาสผิดกันมากคือ เวลาตากจีวรครับ ปกติแล้วบวชพระก็จะมีจีวรอยู่สองชุด ชุดที่เรานุ่งเข้าไปบวชในอุโบสถเรียกว่า "ชุดครอง" ขณะที่จีวรสำรองอีกชุดจะเรียกว่า "อติเรกจีวร"

แล้วเกี่ยวอะไรกับการตากผ้าละฮึ???

เกี่ยวกันครับ เพราะปกติเวลาบวชแล้วต้องซักชุดครองของเรา การตากผ้าข้อควรห้ามคือ อย่าได้ตากกลางแจ้งตอนกลางคืนเป็นอันขาด และถ้าตากกลางคืนก็ต้องตากในที่ร่ม และต้องเก็บก่อนตะวันขึ้น มิฉะนั้นแล้วก็จะผิดศีลข้อนี้ไปครับ ซึ่งเหตุผลก็คือพระภิกษุมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาเครื่องบริขารให้ดีครับ ถ้าหายไปแล้วก็จะเกิดเหตุการณ์ขัดแย้งกับบุคคลอื่นๆ ทำให้เกิดโทสะต่อกัน และอาจเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรง หรือความเดือดร้อนต่อผู้อื่นอีกก็เป็นได้ (โดยเฉพาะญาติโยมที่จะหามาถวายใหม่) ดังนั้นต้องรักษาไว้ใ้ห้ดีครับ

ถ้าตากชุดครองแล้วลืมเก็บก่อนตะวันจะขึ้น (อารมณ์ว่าวันนั้นใส่อติเรกจีวรแทน) วิธีแก้คือต้องกล่าวคำสละชุดครองนั้น และให้พระรูปอื่นกล่าวคำคืนผ้าชุดนั้นแก่เรา จากนั้นเราก็มาอธิษฐานผ้า ทำพินทุผ้า แล้วค่อยปลงอาบัติครับ (ขั้นตอนเยอะจริงๆ)

อีกอย่างหนึ่งที่อาจจะพลาดกันคือ ตามหลักแล้วพระห้ามใช้ หรือเก็บอติเรกจีวรเพื่อใช้ไว้เกิน 10 วันครับ ถ้าเกินก็โดนกันไป วิธีแก้ก็คือให้กล่าวคำสละผ้า แล้วให้พระรูปอื่นกล่าวคำคืน จากนั้นเราก็อธิษฐานผ้า ทำพินทุผ้า และปลงอาบัติครับ (ขั้นตอนเดิมเลย)

แต่ถ้าใครเก็บอติเรกจีวรไว้เกือบจะสิบวัน แนะให้ทำการสละผ้า รับคำคืนผ้า อธิษฐานผ้า และพินทุรอไว้เลยครับ (ซึ่งจริงๆถ้าจะเอาเป๊ะตามพระวินัย แบบนี้ก็ผิดครับ เพราะพระสมัยก่อนจริงๆก็น่าจะมีแค่ชุดครองเท่านั้นเอง ปกติแล้วจะเอาสังฆาฎิมาใช้แทนกันกับจีวรธรรมดาครับ แต่สมัยนี้อนุโลมเท่านั้นเอง)

ถ้าได้บวชกันแล้วก็ระวังๆเรื่องนี้ด้วยนะครับ

(5) เงิน

เวลาออกไปบิณฑบาตมักจะมีญาติโยมถวายปัจจัยครับ ตามแต่กำลังและความเหมาะสมของแต่ละคน ซึ่งจริงๆแล้วมันอาบัตินะครับ พระเลยต้องปลงอาบัติกันทุกคืนเพราะเรื่องนี้แหละ 555

แต่จริงๆแล้วมันก็อยู่ที่เจตนาด้วยครับ เวลาเราเป็นพระแล้วถ้าเราได้รับปัจจัยมาก็ไม่ต้องไปขุ่นเคืองอะไร และก็ไม่ต้องไปคิดถึงลาภผลอะไรตรงนั้น เขาให้มาก็รับเฉยๆไม่ต้องคิดอะไร จากนั้นค่อยนำไปบริจาคทำประโยชน์ให้คนอื่นก็ได้ครับ แล้วจะปลงอาบัติก็โอเคแหละครับ ของอย่างนี้มันอยู่ที่ใจจริงๆน่ะแหละ แค่ไม่ได้ยินดีในลาภผลนั้นก็เป็นใช้ได้แล้ว (แต่ก็ไม่ต้องขุ่นมัวนะครับ จะเป็นบาปเป็นโทษไปอีก)

และอีกเรื่องที่อยากจะบอกก็คือ บางทีก็อาจอนุโลมได้เรื่องการซื้อของด้วยปัจจัยครับ

ในบางกรณี เช่น ต้องเดินทางไปกิจนิมนต์โดยที่เจ้าภาพไม่ได้ขับรถพาไป แบบนี้ทำได้ครับเพราะช่วยไม่ได้จริงๆ ก็ต้องปลงอาบัติครับ ส่วนอีกกรณีคือไปบิณฑบาตแล้วทางสายนั้นไกลมาก กว่าจะเดินกลับวัดมาก็สายแล้ว (จะฉันรวมกันประมาณเจ็ดโมงครึ่งครับ ซึ่งถ้าเดินกลับไม่ทันแน่ๆสำหรับสายนั้น) แบบนี้อนุโลมให้นั่งแทกซี่กลับมาได้ครับ แล้วก็ปลงอาบัติ ซึ่งวันแรกตอนผมบวชก็ต้องนั่งแท็กซี่มากับพระพี่เลี้ยงนั่นแหละครับ แต่วันหลังๆมีโยมอุปัฎฐากช่วยขับระกระบะไปส่งให้ ก็เรียกได้ว่าสบายใจขึ้นเยอะครับ ต้องอนุโมทนาจริงๆ

เคสสุดท้ายจริงๆคือซื้อหนังสือธรรมะในวัดครับ!

อยากจะฝากว่าสุดท้ายเรื่องแบบนี้อยู่ที่ใจครับ ใจเป็นประธาน ถ้าเจตนาเราไม่ได้จะเอาเงินไปซื้อของมาบำเรอกามหรือเพื่อให้มีส่วนเกินไปจากความเป็นพระ ผมว่าก็โอเคแล้ว เวลาเราเป็นฆราวาสก็อย่าเพิ่งไปตัดสินพระจากการกระทำภายนอกโดยที่ไม่ได้สืบสาวความจริงครับ เดี๋ยวหน้าแตกไม่พอจะเป็นอกุศลทางใจไปเปล่าๆด้วย

(6) ปัจจัยสี่ 

ตอนบวชเป็นพระจะต้องท่องบทต่างๆที่ว่าด้วยการใช้สอยปัจจัยสี่อย่างสำรวมระวัง (จีวร อาหาร ยารักษาโรค และที่นอน) ข้อนี้แสดงให้เห็นถึงความสมถะ เรียบง่าย ของผู้ถือบวชอย่างชัดเจนที่สุดครับ ว่าตลอดการใช้สอยนั้นก็สักแต่ว่าใช้สอยไปเท่านั้น ไม่ได้ฉันเพื่อให้เกิดกำลังพลังทางกายส่วนเกิน ความเอร็ดอร่อย หรือความสะดวกสบาย และเพื่อให้สามารถรักษากายนี้ เอาไว้ทำประโยชน์อื่นๆต่อไปมากกว่าครับ

ข้อคิดเรื่องนี้ทำให้กลับมาดูตัวเองตอนที่เป็นฆราวาส ว่าจริงๆแล้วเราจำเป็นต้องมีอะไรบ้างในชีวิตนี้ ถึงที่สุดแล้วเมื่อหนีความตายไปไม่พ้น การใช้สอยปัจจัยสี่อย่างสำรวมระวัง ย่อมเป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเองและผู้อื่น คือ เป็นประโยชน์ต่อตนเองในแง่ของการเจริญสติ ปฏิบัติธรรมเจริญภาวนากันตามสมควร และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นในแง่ของการประหยัดทรัพยากรในสังคม ทรัพยากรส่วนเกินใดที่เหลือก็สามารถนำไปปันให้กับผู้ที่ยังไม่มีได้ แทนที่จะมาสิ้นเปลืองกับตัวเราเพียงคนเดียวเพื่อปรนเปรอความสุขสบาย ผมว่านี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ และหวังว่าผู้ที่มีโอกาสบวชจะได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้มากๆครับ

ส่วนใครที่ยังไม่เคยบวช จะพิจารณาดูกันก็ไม่เสียดายแต่ประการใดเลยครับ...



PS.
ขอขอบคุณรูปภาพจากเว็บไซต์ดังนี้ครับ

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=133186
http://www.toodong.com
http://news.tlcthai.com/news/104692.html