วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ข้อมูลการบวชวัดชลประทานฯแบบละเอียด (Part 2: ชีวิตและกิจวัตรของพระนวกะ)

หลักจากตอนที่แล้ว (http://botsleepyboyz.blogspot.com/2014/06/part-1.html) ได้พูดถึงการเตรียมตัวบวชที่วัดชลประทานฯไปพอสมควรแล้ว คราวนี้ก็จะพูดถึงชีวิตและกิจวัตรของพระนวกะ (พระบวชใหม่) ครับ แต่จะพูดในลักษณะคร่าวๆ ทั่วไป เพื่อที่จะได้เห็นภาพรวมทั้งหมดครับว่ามันไม่ได้โหดหินน่ากลัวอะไรขนาดนั้น และที่สำคัญก็คือ ตารางกิจกรรมก็ไม่ได้ว่างจนเกินไปครับ

(1) ทำวัตรเช้า: ธรรมะรับอรุณ

โดยปกติแล้ว พระอาจารย์ท่านไม่ได้กำหนดอะไรตายตัวหรอกครับว่าต้องตื่นกี่โมง (ปกติก็ตีสามครึ่ง) แต่ที่แน่ๆก็คือเราต้องไปทำวัตรเช้ากันที่โรงเรียนพุทธธรรม (ชั้นสอง ห้องพื้นไม้ แอร์เย็นฉ่ำ - นับว่าโชคดีกว่ารุ่นสมัยก่อนเยอะเลยครับ) ตอนประมาณตีสี่ครับ พระอาจารย์ท่านจะเปิดเพลงธรรมะไม่ก็ปาฐกถาธรรม (คือเทศน์นั่นแหละ) ของท่านหลวงพ่อปัญญารอพระนวกะเอาไว้ครับ ใครไปก่อนจะฟัง หรือนั่งกัมมัฎฐานสงบใจอะไรไปก็ตามสบายครับ

เมื่อมากันพร้อมแล้วก็ถึงเวลาทำวัตรเช้ากันครับ ซึ่งการทำวัตรเช้า (รวมถึงทำวัตรเย็น) ของภิกษุสงฆ์นี้จุดมุ่งหมายก็เพื่อระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์) และการสำรวมกาย วาจา ใจ ก่อนที่จะเริ่มต้นวันใหม่ (รวมถึงก่อนจำวัด สำหรับการทำวัตรเย็น) ด้วยการสวดมนต์ครับ

ข้อดีของที่นี่คือ การสวดมนต์ทำวัตรจะไม่ใช่สักแต่ว่าท่องคำภาษาบาลีให้ดูเข้มขลังแต่ฟังไม่รู้เรื่องเท่านั้น แต่จะมีบทสวดแปลให้สวดคู่กันไปด้วย เรียกได้ว่าแปลประโยคต่อประโยคครับ เพื่อให้เราเข้าใจว่าเราท่องอะไรอยู่ และจะได้เกิดความยินดีในการระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และหากวันไหนพระอาจารย์ท่านให้สวดบทพิเศษ (ที่ไม่ได้อยุ่ในบทสวดทำวัตรเช้า-เย็นปกติ) ก็จะยิ่งได้ประโยชน์ครับ เพราะบทพิเศษเหล่านั้น ล้วนเป็นบทที่ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติธรรม และหลักธรรมต่างๆที่เราเคยท่องจำกันตั้งแต่เด็ก (เช่น โอวาทปาฏิโมกข์ มรรคมีองค์แปด) หรือบทใหม่ๆที่มาเพื่อสำหรับการทำความเข้าใจในเรื่องกัมมัฎฐาน (อานาปานสติสูตร บทที่ว่าด้วยการพิจารณาสังขาร) ฯลฯ ซึ่งอันนี้แหละครับที่ผมคิดว่าคือหัวใจของการมาบวชที่นี่ทีเดียว

(สำหรับบทสวดมนต์แปลฉบับนี้ไปซื้อหามาอ่านได้ที่ร้านหนังสือตรงข้ามกุฎิสี่เหลี่ยมได้ครับ สนนราคาประมาณ 30 บาท (ถ้าอยากอ่านบทพิเศษจะมีเล่มบางๆขายแยกครับ เล่มละ 15 บาท) โดยร้านจะเปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ครับ ก็ไปใส่บาตรพระแล้วแวะไปหามาอ่านก็เป็นไอเดียที่ดีไม่ใช่เล่น (และยังมีหนังสือและซีดีอื่นๆดีๆอีกมากครับ ในราคาย่อมเยา แนะนำจริงๆ) )

เมื่อทำวัตรเช้าเสร็จแล้ว พระอาจารย์ท่านจะให้ "สงบใจ" ก็คือนั่งสมาธิ เจริญภาวนาอะไรไปนี่แหละครับ จากนั้นท่านก็จะเล่านิทานเซ็น หรือที่ติดปากพระนวกะว่า "ธรรมะรับอรุณ" นี่แหละครับ จากนั้นก็จบ เสร็จประมาณตีห้าครับ แต่อาจมีเลทได้ไม่เกินสิบห้านาที

(2) บิณฑบาต: วัตรปฏิบัติที่มิอาจว่างเว้น

กลับมาจากทำวัตรเช้า ก็คือเตรียมตัวไปบิณฑบาตกันครับ โดยปกติแล้วพระนวกะจะมีการแบ่งสายการเดินบิณฑบาตไปตามที่ต่างๆ และเวลาการเดินบิณฑบาตของแต่ละสายจะไม่เหมือนกัน แต่ส่วนมากจะอยู่ราวๆตีห้าครึ่ง ถึงราวๆหกโมงเช้า สำหรับสายของผมตอนนั้นคืออยู่ที่หมู่บ้านสี่ไชยทอง ไปเจอหลวงพี่ที่นำสายประมาณตีห้าสี่สิบ แล้วก็เดินเลยครับ ไปตามทาง

ตอนเป็นพระนี่เข้าใจเลยว่าเดินสำรวมเป็นยังไง กังวลจีวรว่ามันจะหลุดมั้ยบ้างละ (เดี๋ยวจะมาว่ากันด้วยเรื่องจีวรตอนหลังครับ) ต้องระวังว่าจะทำบาตรตกมั้ยบ้างละ (เป็นอาบัตินะครับ ฐานขาดสติ+ไม่สำรวม แหะๆ) ต้องระวังไม่ให้โดนตัวญาติโยม ต้องบริหารจัดการของใส่บาตรของญาติโยมว่าจะเก็บอะไรไปฉัน จะเอาอะไรให้พระท่านอื่นๆฉัน ต้องดูทางเดินว่ามีกับดัก หรือเศษแก้วหรือไม่ ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นการฝึกที่ดีครับ ต่อให้ง่วงแค่ไหนก็ตื่นกันแน่นอนตรงนี้ 55

ตอนเดินบิณฑบาตนี่ความรู้สึกคนละอย่างกับการเป็นฆราวาสรอใส่บาตรเลย นอกจากต้องสำรวมระวังอย่างที่ว่ามาแล้ว เวลาญาติโยมไม่ว่าจะเด็กจะแก่ไหว้เรานี่มันทำให้เราต้องกลับมาทบทวนตัวเองเสมอว่า ได้ทำตัวให้น่าไหว้น่าเคารพอย่างนั้นหรือยัง? รักษาศีล 227 ข้อได้อย่างไรแล้วบ้าง? เพราะอาหารที่ญาติโยมเอามาใส่เนี่ยมันจะมีประโยชน์สุดๆถ้าเราตั้งใจปฏิบัติครับ ไม่ว่าจะศีล หรือภาวนาก็ตาม ก็ยิ่งทำให้ต้องเอามาทบทวนตัวเองเรื่อยๆครับ ซึ่งตอนเป็นฆราวาสเราจะไม่ค่อยคิดเรื่องแบบนี้หรอก มัวแต่ไปจ้องจับผิดคนอื่น แทนที่จะพยายามจับผิดตัวเอง และขัดเกลาตนให้มากพอ

และเราจะสังเกตได้เลยครับว่าบ้านไหนเป็นขาประจำ กับขาจร และที่แน่ๆคือผมพบเบาะแสส่วนหนึ่งแล้วครับว่าบ้านไหนใส่ปลากระป๋องมาครับ ซึ่งเห็นแล้วก็ไปนึกถึงตอนยังทำค่ายแล้วมาขอปลากระป๋องที่วัดเลยทีเดียว 555

(เกือบลืมครับ พระจริงๆห้ามให้พรโยมตอนบิณฑบาตนะครับ เป็นอาบัติ เค้าถือว่าห้ามแสดงธรรมโยมตอนยืนอยู่ จะให้พรหรือแสดงธรรมได้ต่อเมื่อนั่งแล้วเท่านั้น พระที่วัดนี้เลยจะกลับมาที่วัดก่อนแล้วค่อยให้พรกันครับ)

(3) นั่งรับบิณฑบาตที่ลานหินโค้ง: เตรียมฉันมื้อเช้า

สายบิณฑบาตที่ผมสังกัดนี้จะกลับมาถึงลานหินโค้งประมาณหกโมงครึ่งครับ (มีโยมอุปัฎฐากที่บ้านและที่ทำงานอยู่แถวนั้น มาบริการรับของใส่บาตรไปใส่ในถุง และบริการส่งพระกลับวัดด้วยรถกระบะครับ (อนุโมทนาด้วยครับ) เหตุที่สายนี้ต้องนั่งรถกลับ เพราะระยะทางเดินบิณฑบาตมาค่อนข้างไกลพอสมควรครับ สายอื่นๆที่ระยะทางสั้นกว่าก็จะเดินกลับมา ประมาณนี้ครับ) ก็เดินไปถ่ายของที่ได้มาในกะละมังส่วนกลาง เก็บมื้อเช้าและเพลไว้เลยครับ จากนั้นไปนั่งรอโยมมาใส่บาตรกันไป บางวันโยมเยอะเพราะเป็นวันพระ บางวันโยมน้อยก็ไม่เป็นไรครับ ก็ว่าไปตามเรื่อง (พวกเราถึงกับมีคำพูดว่า "ไปวัดดวงกับโยม" ซึ่งหมายถึงว่าในวันนั้นได้ของบิณฑบาตน้อย และของในกะละมังกลางก็น้อย เลยต้องไปวัดดวงว่าโยมที่จะมาใส่บาตรที่ลานนั้นจะใส่อะไร เข้าทำนองไปตายเอาดาบหน้า 555)

เจ็ดโมงครึ่งก็จะให้ญาติโยมสมาทานศีล และกล่าวคำขอถวายทาน ที่นี่ผมชอบมากครับ เพราะคำถวายทานไม่ได้พูดว่า "เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ของข้าพเจ้าทั้งหลาย" แต่พูดว่า "เพื่อบริจาคและสละออก เพื่อขจัดเสียซึ่งอาสวะกิเลสทั้งหลาย (ความเห็นแก่ตัว)" ตรงนี้จับใจครับ จากนั้นพระก็จะท่องบทพิจารณาบิณฑบาตว่าไม่ได้ฉันเพื่อให้เกิดกำลังส่วนเกินนะ แต่ฉันเพื่อให้ไม่หิว จะได้สามารถทำกิจของสงฆ์ได้ทั้งวันเท่านั้น เสร็จแล้วก็เริ่มลงมือฉันเลยครับ

เวลาฉันฉันบนฝาบาตร (ได้ยินไม่ผิดครับ ฝาบาตร) และต้องสำรวมครับ วันแรกบวชใหม่ๆไม่ได้เรียนเรื่องศีลพระเจอข้าวมันไก่โยมก็โซ้ยแบบฆราวาส (มือนึงยกฝาบาตรขึ้นมา มือนึงถือช้อนซัดโฮกๆ) ก็อาบัติกันไปนะครับ 55 วันหลังๆเลยต้องวางฝาบาตรไว้ที่พื้น หั่นกับข้าวให้พอดีคำ แล้วตักมาใส่ปากแบบสำรวม (บางทีมีโยมถวายผลไม้มา ก็ลองเอาผลไม้ไปผสมกับข้าวดูครับ กะว่าจะลองพิจารณาอาหารแบบแนววัดป่ามั่ง ปรากฏว่าอร่อยกว่าเดิมครับ กิเลสหนาโดยไม่รู้ตัวแทน 55)

เสร็จแล้วก็เช็ดฝาบาตร บาตร แล้วผูกบาตรไว้ให้เรียบร้อย เวลาประมาณแปดโมง (บางวันเลทกว่านั้นครับ) ก็พร้อมกันให้พรโยมไปกรวดน้ำกันไป เสร็จแล้วก็แยกย้ายกลับกุฏิครับ โยมก็กลับบ้านกันไป ถึงตรงนี้พระนวกะจะมีเวลาราวๆหนึ่งชั่วโมง สำหรับคุยสารทุกข์สุกดิบกับญาติโยม ล้างบาตร สรงน้ำ (บางท่านร้อนมากก็สรงได้ครับ) และเตรียมตัวเข้าเรียนเวลาประมาณเก้าโมงสิบห้าครับ

(4) เรียนพระธรรม 

คาบเรียนปกติจะมีสองช่วง คือช่วงเช้า (9.15 - 10.45) และช่วงบ่าย (13.00 - 15.30) หัวข้อธรรมะก็หลากหลายครับ พระอาจารย์ทั้งหลายก็จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้ความรู้กันไป ใครบวชสามสิบวันก็จะได้เรียนเยอะกว่าคนอื่นเป็นพิเศษครับ

แต่สำหรับสามวันแรก ทั้งคาบเช้าและบ่ายจะเป็นเวลาของการ "นั่งกัมมัฎฐาน" (คือนั่งสมาธินั่นแหละครับ) ตรงนี้แหละเรียกได้ว่าใครชอบปวดเมื่อยหรือวอกแวกจะเจอปัญหา เพราะรุ่นที่ผมบวชนี่พระอาจารย์ท่านเน้นนั่ง ไม่เน้นให้ฟังท่านสอน เรียกได้ว่าทำเอาผมปวดไหล่ไปเลยทีเดียว

แต่แปลกครับ ปวดหนักๆวันนึงแต่พอฝืนทำกิจวัตรอะไรไป ปรากฏตัวยืดหยุ่นขึ้น! ก้มเอานิ้วมือไปแตะนิ้วเท้าได้โดยขาไม่งอ ซึ่งตอนแรกผมทำไม่ได้แท้ๆ เลยตั้งทฤษฎีมาลอยๆเองว่า เออหรือว่าพวกฤาษีที่นั่งปฏิบัติยาวๆแล้วเค้าตัวยืดหยุ่นเล่นโยคะได้นี่เพราะนั่งขัดสมาธิยืดเส้นนานนี่เอง! ก็เดากันไปต่างๆนานา 555

แต่ตรงนี้อยากให้ตั้งใจกันครับ เพราะเป็นพื้นฐานที่สามารถเอาไปปฏิบัติต่อได้เวลาว่างๆ ขณะเดินบิณฑบาต พัก ซักจีวร ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละคนแต่ละท่านว่าจะปฏิบัติมากน้อยอย่างไร

ส่วนรุ่นจำพรรษาจะจัดหนักพิเศษ เจ็ดวันเต็มครับ

(5) พักผ่อน ทำวาระ และประชุมรวม

เรียนเสร็จตอนเช้าก็กลับมาฉันเพล เวลาฉันเพลก็ต้องห่มจีวรด้วยแม้ว่าจะอยู่ในกุฏิก็ตามเพื่อความสำรวม เสร็จแล้วก็ทำกิจวัตรส่วนตัว ล้างบาตร ซักจีวร สรงน้ำ (ตอนนั้นอาบวันละ 4 ครั้ง คือตอนเช้า หลังซักจีวร หลังทำวาระ (กวาดถนนวัด) และก่อนนอน) เรียกได้ว่ากว่าจะเสร็จก็ไม่มีเวลาพักผ่อนเลย (เหลือครึ่งชัวโมงก่อนเรียน ก็ทำอะไรไม่ได้มาก วันหลังๆเลยต้องลดปริมาณแฟ้บเพื่อจะได้ซักน้ำเปล่าน้อยลงแทนไป ก็ได้เวลาคืนมาพอสมควรครับ)

จริงๆเวลาว่างเค้าจะให้นั่งอ่านหนังสือ (ทางวัดแจกแบบจัดเต็มมากครับ หนังสือเทศน์ของหลวงพ่อปัญญาแก่พระนวกะรุ่นจำพรรษาทั้งสามเดือน เรียกได้ว่าอ่านจบเหมือนบวชพรรษานึงเลยทีเดียว แถมด้วยหนังสือนวโกวาทที่พระใหม่ต้องอ่าน ซึ่งว่าด้วยพระวินัย 227 ข้อ และหลักธรรมที่ควรรู้ต่างๆ และหนังสือธรรมะอื่นๆอีกมากมายที่จะแจกกันให้อ่าน สรุปคือสุดยอดครับ) แต่ส่วนมากพวกเราก็มักจะจำวัดกันครับเพราะมันเหนื่อยล้าจริงๆ บางวันท็อปฟอร์มก็จะชงกาแฟฉันไปเพื่อให้ตาสว่างอ่านหนังสือได้ครับ แต่บางวันมันไม่ไหวก็หลับไปก็มี

ส่วนทำวาระ (กวาดลานวัด ล้างห้องน้ำ) จะทำหลังจากเรียนคาบบ่ายเสร็จ จะมีการแบ่งกลุ่มไปทำครับ ก็เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ที่ดี สร้างมิตรภาพกับเพื่อนพระนวกะ และฝึกตนได้ดีนักแลทีเดียว

เสร็จแล้ว (โดยเฉลี่ยทำกันประมาณยี่สิบนาทีถึงครึ่งชั่วโมง) ก็กลับไปสรงน้ำ พักผ่อน และรอเรียกประชุมรวมในกุฎิสี่เหลี่ยมของพระนวกะเวลาห้าโมงเย็นครับ โดยการประชุมรวมนี้พระอาจารย์ท่านจะมาพบปะพูดคุยเรื่องราวต่างๆ บางครั้งก็สอนธรรมะบางหัวข้อในหนังสือนวโกวาท ซึ่งมันจะมีรสชาดมากเมื่อท่านเล่าตัวอย่างจากประสบการณ์ที่ท่านประสบพบเจอมา ก็ได้ทั้งสาระและความสนุกสนานไปตามเรื่องครับ (ตรงนี้เราจะรู้ได้เลยว่า พระอาจารย์ท่านใจดีมากครับ ที่ดุไปก็ดุไปอย่างนั้นแหละ) ซึ่งประชุมรวมก็จะเสร็จประมาณหกโมงเย็น เพื่อให้เตรียมตัวไปทำวัตรเย็นเวลาหกโมงครึ่งครับ

(6) ทำวัตรเย็น (และเรียนธรรมะเพิ่มเติม)

ที่ไม่รวมกับทำวัตรเช้าเพราะนอกจากจะสวดมนต์แปลแล้ว ก็จะมีการนั่งกัมมัฎฐาน และบทสวดพิเศษที่พูดถึงในหัวข้อทำวัตรเช้านี่แหละครับจะเป็นหัวข้อไฮไลท์ในการเรียนพระธรรมตอนเย็นหลังสวดมนต์เสร็จ (ทำวัตรเช้าพระอาจารย์ท่านจะไม่ได้อธิบายลงรายละเอียดครับ แต่จะแค่สรุปว่าที่จะสวดกันมันคืออะไรเฉยๆ) บางวันพระอาจารย์ท่านจะนำภาพผ่าตัดศพมาเป็นการศึกษาอสุภะ (ความเน่าเปื่อยของร่างกาย) หรือเรื่องอื่นๆตามแต่ท่านจะนำมาครับ ทั้งหมดนี้ผมถือว่าเป็นการเรียนที่ดีมากๆพอสมควรเลยทีเดียว

เวลาในการทำวัตรเย็นตั้งแต่หกโมงครึ่งถึงสองทุ่มครึ่งครับ สวดจะสวดกันราวๆชั่วโมงนึง สอนอีกชั่วโมงนึง (นั่งกัมมัฎฐานแล้วแต่วันครับ บางวันนิดเดียว บางวันไม่สอนอะไรแต่ให้นั่งยาว) ถ้ามีคำถามจะตามไปถามนอกรอบหลังคาบได้ครับ โดยส่วนตัวผมชอบคาบนี้มากครับ ได้เรียนรู้อะไรมากมายที่ไม่เคยรู้จากคาบนี้จริงๆ ทำให้กลับมาดูตัวเองว่ายังไม่รู้อะไรอีกเยอะ และต้องลงมือปฏิบัติต่อไปอีกมาก

เสร็จแล้วก็แยกย้ายไปพักผ่อนครับ ส่วนมากจะปลงอาบัติกัน (ปลงเพื่อแสดงความละอายว่าไปผิดศีลอะไรในใจ แล้วบอกไปว่าวันต่อไปจะสำรวมกาย วาจา ใจ พยายามไม่ทำผิดอีก) จากนั้นก็สรงน้ำแล้วค่อยจำวัด (บางวันอยากอ่านหนังสือก็อ่านครับ อยากนั่งกัมมัฎฐานก็นั่ง) จากนั้นก็ตื่นมาตีสาม ตีสามครึ่งเพื่อทำกิจวัตรในวันต่อไปครับ (ไม่แนะนำให้นอนดึกครับ เพราะมันง่วงมากจริงๆ คอนเฟิร์ม)

*******

ทั้งหมดนี้คือกิจวัตรของพระนวกะของวัดชลประทานฯครับ สำหรับโพสต์ต่อไปจะเป็นข้อมูลเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอื่นๆพอสังเขปเพิ่มเติมเพื่อประกอบเรื่องการใช้ชีวิตของพระใหม่ครับ

วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ข้อมูลการบวชวัดชลประทานฯแบบละเอียด (Part 1: เตรียมตัวให้พร้อม!)

หลังจากที่เรียนจบและทำงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในใจก็นึกแต่จะหาเวลาบวชเรียนให้ได้สักครั้งหนึ่ง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแรกเลยก็คือ จะไปบวชที่ไหนดี? นึกๆไปเลยคิดไปถึงวัดแห่งหนึ่งที่เคยไปขอมาม่าปลากระป๋องไปทำค่ายอาสาฯสมัยเมื่อยังเรียนมหาลัยอยู่ (แล้วโดนไล่ตะเพิดเพื่อดัดสันดานในวันแรก 555) เลยคิดว่า อืม ที่นี่น่าจะช่วยดัดสันดานและเปิดหูเปิดตาโลกทางธรรมได้ จึงตัดสินใจเสิร์ชหาข้อมูลรายละเอียดการบวชของวัดชื่อดังย่านปากเกร็ดแห่งนี้

สำหรับบทความนี้ จะพยายามเรียบเรียงข้อมูลการสมัคร เตรียมตัว และการใช้ชีวิตโดยทั่วไปหลังจากบวชเรียบร้อยแล้วของ "วัดชลประทานรังสฤษดิ์" ที่เรียกได้ว่าหืดจับพอสมควรทีเดียวกว่าจะฝ่าด่านอรหันต์มาได้

(ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://watchol.blogspot.com/ ครับ เป็นแรงบันดาลใจที่อยากจะเขียนรีวิวแบบ update ต่อยอดต่อไปครับ)

(1) คิดให้ดีก่อนบวช

สิ่งแรกที่ผู้บวช (และผู้ปกครองที่ปรารถนาจะให้บุตรหลานออกบวช) ต้องคิดเป็นอย่างแรกเลยคือ จะบวชไปทำไม? โดยมากแล้ววัฒนธรรมไทยนั้นนิยมบวชเป็นประเพณีโดยมีความเชื่อว่าบวชแล้วพ่อแม่จะได้จับชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์บ้าง มีความเชื่อว่าเป็นการ "บวชเรียน" เพื่ออบรมบ่มนิสัยให้กลายมาเป็นฆราวาสที่ดี สามารถทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวและดำเนินชีวิตในสังคมต่อไปได้อย่างปกติสุข ฯลฯ 

ไม่ว่าเป้าหมายจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม อยากฝากว่าผู้บวชเองควรจะเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นที่จะบวช และเมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติอย่างดี ประโยชน์ก็จะตกไปอยู่ที่ตัวผู้บวชเป็นอย่างมากครับ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาธรรม นั่งกัมมัฎฐาน การฝึกตนและระเบียบวินัย ฯลฯ ถ้าตั้งใจแล้วจะได้ประโยชน์มากจริงๆ และเมื่อเจ้าตัวปฏิบัติดีปฏิบัติชอบภายหลังจากสึกออกมาแล้ว ก็น่าจะได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนรอบตัวเขาต่อไปเรื่อยๆ อันนับได้ว่าเป็นประโยชน์อย่างหาที่สุดมิได้อีกโสตครับ

เรื่องที่สองก็คือ จะมีพิธีรีตองบวชกันอย่างไร? ต้องบอกก่อนเลยว่าวัดนี้จะไม่ได้มีพิธีบวชแบบที่เราๆท่านๆอาจจะคุ้นเคยกันมา อาทิ การแห่นาค การโปรยทาน ฯลฯ นะครับ เพราะที่นี่เค้าถือว่าในสมัยพุทธกาลเองผู้บวชก็ไม่ต้องทำพิธีอะไรมากครับ แค่ให้พระพุทธเจ้าบอกรับ หรือหมู่สงฆ์สวดรับก็พอแล้ว เอามาแต่ความตั้งใจดีที่จะบวชครับ พิธีการอะไรนั่นเป็นแค่เปลือก มิใช่แก่นแต่อย่างใด (แต่จะได้ร่วมงานบวชหมู่ที่มีผู้บวชเยอะมากๆเป็นอันดับต้นๆในประเทศเลยก็ว่าได้ครับ)

เมื่อพิธีการอะไรไม่ยุ่งยากลำบากมาก ค่าใช้จ่ายก็ลดลงตามไปด้วยครับ บวชบางวัดอาจใช้เงินหลักหมื่นขึ้นไป แถมญาติโยมอาจต้องมาเหนื่อยเตรียมงานเตรียมอาหารสารพัด แต่ที่นี่ไม่ต้องคิดมากครับ ทางวัดจะจัดการเรื่องอาหารวันพระบวชให้เองไม่ต้องลำบากญาติโยม ส่วนเรื่องปัจจัยสนับสนุนไม่ใช่ปัญหาครับ อยู่ที่ราคา 3,000 บาท โดยทางวัดจะช่วยดำเนินการจัดหาเครื่องอัตถบริขาร อาทิ จีวร บาตร ซึ่งคุณภาพดีทีเดียวครับ และไม่ต้องไปหาซื้อให้วุ่นวาย ส่วนใครที่ไม่มีปัจจัยก็สามารถบอกทางวัดได้ตรงๆ ทางวัดก็ยินดีสนับสนุนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายครับ แต่ใครที่สามารถสนับสนุนได้ก็อยากให้สนับสนุนครับ ให้ทางวัดช่วยอุดหนุนผู้ที่เดือดร้อนหรือจำเป็นจริงๆละกันนะครับ (ส่วนใครอยากทำบุญกับทางวัด ก็สามารถบริจาคสมทบทุนเครื่องอัฏฐบริขารนี้ให้กับภิกษุรูปอื่นได้เช่นกันครับ)

สรุปคือ วัดนี้เหมาะสำหรับ 
- ผู้ที่อยากบวชเรียน มีจิตศรัทธา หรืออยากศึกษาพระธรรม (มีคาบเรียน) 
- ผู้ที่ไม่อยากรบกวนญาติโยมเหนื่อยไปกับการจัดงาน 
- ผู้ที่ไม่นิยมพิธีกรรมที่มากมาย อาทิ การแห่นาค 
- ผู้ที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการบวช
- ผู้ที่อยากไปปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ ไชยา (บวชครบ 15 วัน ไปได้เลยครับ แต่ต้องไป 10 วันนะ)

(2) อยากบวชแล้วทำยังไงดี

ง่ายๆครับ เข้าไปที่ http://www.watchol.org/ (เว็บไซต์ทางการของวัด) แล้วเข้าไปหากำหนดการบรรพชาอุปสมบทครับ ซึ่งปกติแล้วจะเปิดให้สมัครทุกวันอาทิตย์ที่สองของเดือน (เช่น อยากบวชเดือนเมษา ก็ไปสมัครเดือนมีนา) โดยจะเปิดให้บวชตั้งแต่เดือน ม.ค. - มิ.ย. และ พ.ย. - ธ.ค. ครับ (เดือนที่ว่างเว้นไว้คือรุ่นจำพรรษา จริงๆขอบวช 15 วันได้ครับก่อนถึงวันเข้าพรรษา โดยไม่ต้องกล่าวคำขอจำพรรษา แต่หลังวันเข้าพรรษาแล้วเหมือนจะไม่ได้แล้วครับ ไม่รับเพิ่ม)

จำนวนวันขั้นต่ำในการบวชคือ 15 วันครับ (ใครอยากบวชเกิน ได้ครับ จัดไป พระท่านไม่ว่าอะไร)

บางท่านอาจสงสัยว่าบวชแค่ 15 วันมันจะไปได้อะไร อันนี้อยู่ที่การปฏิบัติของแต่ละท่านครับ ถ้าตั้งใจจริงๆ 15 วันมันก็มีผลดีมากๆ บางทีบวชหลายเดือนแต่เข้าเกณฑ์ "เช้าเอน เพลนอน บ่ายพักผ่อน เย็นจำวัด ดึกสงัดซัดมาม่า" (ท่อนนี้จำมาจากพระอาจารย์ครับ 555+) อย่างนี้ก็ไม่ได้อะไรครับ ของอย่างนี้มันแล้วแต่บุคคลจริงๆ แหะๆ

ถ้าตั้งใจจะบวชแล้วรีบแพลนไว้ล่วงหน้าเลยนะครับ จะได้ไม่พลาด (รุ่นนึงตกประมาณตั้งแต่แปดสิบรูป จนถึงรุ่นผมที่ 177 ครับ! (อีกสองท่านไม่ได้อุปสมบทพร้อมกัน) ถ้าไม่อยากบวชเยอะแนะนำให้หลีกเลี่ยงเดือนพฤษภา-มิถุนาไปเลย)

(3) เตรียมตัวเตรียมใจ

หลังจากดูแล้วว่าจะไปบวชช่วงไหน ก็ไปวัดวันรับสมัครเลยครับ โดยเค้าจะให้ไปนั่งรอที่โรงเรียนพุทธธรรมครับ จากนั้นก็จะให้กรอกใบประวัติ (แนะว่าให้เขียนลายมือดีๆ อ่านออกนะครับ) แล้วพระครูปลัดวิมลสิริวัฒน์ (หลวงพ่อสมชาย) ท่านก็จะเอาใบประวัตินั่นแหละมาเรียกพวกเราไปรายงานตัวทีละคน โดยเราจะรายงานประวัติส่วนตัวคร่าวๆ เช่น ชื่ออะไร อายุเท่าไหร่ เรียนจบที่ไหนมา ทำงานที่ไหน จะบวชกี่วัน บวชทำไม ราวๆนี้

ลืมบอกไปครับว่าวัดนี้เน้นเรื่องตรงต่อเวลามาก ไปสายโดนตัดสิทธิ์สมัครทันที (รวมถึงวันอื่นๆด้วยนะ)

แนะนำให้ตัดเล็บไป ทำผมเผ้าให้ดูเรียบร้อย ที่เจาะหูก็เอาออกนะครับ อะไรก็ตามที่สามารถทำให้ถูกเพ่งเล็งได้ก็เอาออกไป เพราะไม่งั้นโดนหลวงพ่อท่านสวดยับแน่ (แต่จริงๆท่านใจดีมากครับ ที่ดุก็ดุไปงั้น เพราะคนมาสมัครเยอะมาก + ถ้าไม่ดุแต่แรกคนมาบวชก็จะไม่กลัว) บางรายอาจถูกถามมากหน่อยก็ไม่เป็นไร ตอบไปตามเรื่องเดี๋ยวท่านก็ให้กลับไปนั่งที่เอง

ลืมบอกไปอีกครับว่า ใครมีรอยสักจะถูกเรียกมาสกรีนก่อน ซึ่งสมัยก่อนเข้มงวดมากถึงขนาดไม่รับคนที่สัก แต่เดี๋ยวนี้เท่าที่ผมเห็นก็รับนะครับ แต่แค่เอามาสกรีนกันก่อนว่ามันมากน้อยขนาดไหนเท่านั้นเอง (เค้าเน้นตรงไหล่และแขนขวาครับ ถ้าไม่มากมายอะไรก็น่าจะได้อยู่)

จากนั้นจะชี้แจงรายละเอียดวันสอบครับ (ใช่ครับ สอบ!) แต่เป็นการสอบท่องบทคำขอบรรพชาอุปสมบท ซึ่งจะทำการสอบในอาทิตย์ถัดไป โดยท่านจะชี้แจงรายละเอียดวันสอบ กับรายละเอียดวันปลงผมและบวชแบบคร่าวๆต่อไป จากนั้นก็แจกบทคำขอบรรพชาอุปสมบท (เอสาหังฯ) แล้วมีการซ้อมว่าตรงไหนอ่านอย่างไร แล้วก็จบแล้วครับสำหรับวันสมัคร

และต้องเตรียมเอกสารการสมัครมาให้ครบด้วยนะครับ รวมถึงตรวจสุขภาพ - ตรวจเลือดด้วยน่ะ (ตามลิงค์นี้ http://www.watchol.org/download/document/item/application-for-ordination-all?category_id=1)

สำหรับปัจจัยค่าบวช ที่นี่คิด 3,000 บาทครับ สำหรับเป็นค่าไตรจีวร และบาตร เพื่อที่ทางวัดเองก็สามารถซื้อได้ในราคาย่อมเยาขึ้น ตลอดจนให้เครื่องบริขารของทุกคนเหมือนกัน และที่สำคัญคือ ญาติโยมจะได้ไม่ต้องไปลำบากหาซื้อมาครับ แถมเวลาไปซื้อเนี่ยจะได้ไม่ต้องไปซื้อเครื่องบริขารที่ไม่น่าจะได้ใช้ (เช่น มีดโกน เข็ม ที่กรองน้ำ) ครับ (ส่วนใครที่ไม่มีปัจจัย บอกทางวัดได้โดยตรงครับ)

สำหรับท่านที่ต้องการเตรียมตัวล่วงหน้า เข้าเว็บไซต์วัดตามเคยได้ที่นี่ครับ http://www.watchol.org/download/document/item/khan-nak และสำหรับท่านที่สงสัยว่าคำไหนท่องยังไง หรือมีเวลาเตรียมตัวน้อย ก็ไปโหลดไฟล์เสียงมาได้ครับตามลิงค์นี้ http://www.watchol.org/download/mp3 ซึ่งตัวผมเองก็ทั้งท่อง ทั้งฟังครับ เพราะมีเวลาแค่อาทิตย์เดียวก่อนสอบ (แต่ท่านใดมีธุระ ทำงาน ฯลฯ แนะนำว่าเตรียมตัวมาแต่เนิ่นๆครับ)

วันสอบก็ไม่มีอะไรมากครับ ไปนั่งรอเหมือนเดิม ถึงเวลาท่านจะให้กรอกใบสมัครบวช และเรียกไปสอบเป็นชุดๆ กับพระอาจารย์ท่านต่างๆ งานนี้ก็ต้องมาวัดกันละครับว่าใครซ้อมมาดีแค่ไหนอะไรยังไง

เสร็จแล้วก็เข้าแถวมอบเอกสารและปัจจัยค่าเครื่องบริขาร แล้วก็นั่งฟังคำชี้แจงรวมเกี่ยวกับรายละเอียดวันปลงผม และวันบวช เท่านี้ก็เรียบร้อยครับ

(4) ก่อนบวชจริงต้องเตรียมอะไรบ้างนะ

สิ่งแรกที่ต้องรู้คือ วันปลงผมกับวันบวชเป็นคนละวันกัน โดยเจ้านาคจะต้องมาปลงผมและอยู่วัด 1 คืนก่อนวันบวช สิ่งที่ต้องเตรียมไปมีดังนี้ครับ

- เสื้อเชิ้ตสีขาว 1 ตัว (แขนยาวก็ดีครับ แต่ถ้าไม่มีใส่แขนสั้นก็ไม่เป็นไร)
- เข็มขัด 1 เส้น (ต้องมั่นใจนะครับว่ารัดกับผ้านุ่งแล้วจะไม่หลุด เพราะวันบวชจะต้องนุ่งผ้านุ่งขาวของทางวัดไปบวช)
- ของใช้ทั่วไป (สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน มีดโกนหนวด ผ้าเช็ดตัว ยาประจำตัว ช้อนส้อม รองเท้าแตะ หมอน ผ้าห่ม มุ้งครอบ (ถ้ามี) ไฟฉาย (ถ้ามี) )
- ถ้ามีจิตศรัทธาและกำลังทรัพย์ แนะนำซื้อผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน สก็อตไบรท์ ไปครับ (ไว้ซักจีวร ล้างบาตร ซื้อมาก็เอาไปแบ่งๆกันใช้ ถ้าเหลือก็ถวายวัดครับ จะได้ไม่ลำบากวัดด้วย)
- เงินไม่ต้องเอาไปครับ ไม่ได้ใช้อะไรเลยจริงๆ (และมักจะมีขโมยมาอยู่เนืองๆ)
- มือถือก็ไม่ต้องเอาไปครับ ห้ามใช้ เอาไปโดนยึด
- ในคืนแรกหลังปลงผมอาจเบื่อเพราะว่างจนไม่รู้จะทำอะไร แนะนำให้เอาหนังสือธรรมะไปซักเล่มแก้ว่างครับ 

ถ้าใครคิดว่าอาจจะแพ้ความร้อน ฝุ่น จีวรใหม่ หรืออะไรก็ตาม แนะนำเลยครับ ซื้อยาผงโยคี/ผงวิเศษอะไรพรรค์นี้ไปเตรียมเลย เพราะผมโดนมาแล้วครับช่วงแรกๆที่บวช ทรมานมากกับอาการคัน ถ้าไม่ได้เด็กวัดเอายาผงโยคีมาให้นี่ก็คงทรมานนานกว่านี้ครับ (ใช้ได้ผลจริงๆครับ แนะนำๆ) 

สำหรับวันปลงผมก็ไม่มีอะไรมากครับ นัดเจอกันที่โรงเรียนพุทธธรรมเหมือนเดิม แต่เค้าจะมีเรียงเลขที่เอาไว้ตามเก้าอี้ (เรียงตั้งแต่ภันเต 1 ถึงสุดท้าย โดยเรียงจากอายุครับ) แล้วรอรับเครื่องบริขาร + เสื่อ ก็เอาไปฝากญาติโยมไว้ จากนั้นก็กลับมานั่งรอเรียกไปจับคู่รูมเมท จับฉลากห้องในกุฎิ แล้วก็พากันเอาเครื่องบริขารไปกุฎิเลยครับ (อันนี้ผมแนะนำว่าให้เอาของใช้ส่วนตัวที่เตรียมมาจากบ้านไปด้วยเลย เพราะมันจะหาเวลาเอาเข้าไปทีหลังยากแล้ว แหะๆ)

เมื่อเข้าไปก็ไปวางของ อาจจะทำความสะอาดหรือไม่อันนี้แล้วแต่ท่านเลยครับ จากนั้นก็ออกมาโกนผมที่ลานสนามหญ้าในกุฎิ จะมีหลวงพี่หลายๆรูปคอยเราอยู่ จากนั้นก็ฟอกสบู่ที่ผมเยอะๆไม่ต้องล้าง ถือขันใส่น้ำไปขันนึง แล้วเข้าไปโกนเลยครับ (ท่านไหนจะให้พ่อแม่หรือใครตัดผมตรงนั้นก็ทำก่อนไปนั่งโกนนะครับ ผมเข้าไปนั่งคนแรกเจอโกนเลยไม่มีรีรออะไร ที่นี่ไม่เน้นพิธีกรรมจริงๆครับ)

เสร็จแล้วก็ล้างหัวแล้วรอเรียกรวมที่ลานหินโค้งครับ ถึงตรงนี้จริงๆบอกลาญาติพี่น้องไปได้เลยหลังโกนหัว โดยจะมีการซักซ้อมพิธีการบรรพชา (บวชเณร) และอุปสมบท (บวชพระ) ครับ แล้วก็จะย้ายไปดูสถานที่อุปสมบทที่โบสถ์เพื่อซักซ้อมอีกที เสร็จแล้วก็กลับไปประชุมรวมที่กุฎิครับ โดยพระอาจารย์ก็จะนัดแนะไปว่าจะต้องทำอะไรบ้างในวันบวช คิดเอาไว้เลยนะว่าจะไปพูดอะไรกับคุณพ่อคุณแม่ ฯลฯ อะไรประมาณนี้ จากนั้นก็แยกย้ายเข้าห้องของตนเพื่อพักผ่อนครับ (วันนี้มีอาหารเย็นให้กินอยู่ครับ)

*******

สำหรับวันบวช ก็เริ่มตื่นกันตอนตีสี่ครับ เรียกรวมกันตอนตีห้ามาดูความเรียบร้อยของเครื่องแต่งกาย (เสื้อเชิ้ตขาวกับผ้านุ่งขาว) แล้วก็กินข้าวเช้า (มีข้าวต้ม ไข่เจียว ยำผักกาดดองอะไรไปตามเรื่อง) ประมาณหกโมงก็เดินออกไปลานหินโค้งครับ เพื่อให้ไปลาขอขมาพ่อแม่ญาติโยม (ท่านแนะว่าให้คุณพ่อถือบาตร คุณแม่ถือไตรจีวร แล้วก็กราบตามสมควร) ตอนขอขมานี่ก็ไม่รู้จะพูดอะไรครับ ก็ขอโทษขอขมาและจะเปลี่ยนเป็นคนใหม่หลังจากบวชเสร็จแล้ว จากนั้นก็จะเรียกตัวมาทำพิธีบรรพชา (บวชเณร) ครับ ซึ่งสามารถบวชหมู่ได้ (แต่บวชพระต้องเข้าไปทำพิธีครั้งละ 3 คนเท่านั้น) 

พิธีไม่มีอะไรซับซ้อนครับ ก็ท่องอะไรไปตามที่ซักซ้อมกันมา (บทเอสาหัง บทบรรพชา และคำขอศีล 10 ใช้ตอนนี้ครับ) เสร็จแล้วก็ทยอยไปให้พระอุปัชฌาย์คล้องสายอังสะ (เสื้อตัวในของพระ) แล้วก็เดินไปจุดเปลี่ยนชุดครับ จะมีพระอาจารย์คอยช่วยเปลี่ยนชุดจากชุดขาวเป็นจีวร จากนั้นก็เข้าไปรวมเพื่อฟังพระอุปัชฌาย์เทศน์เรื่องกัมมัฎฐานทั้งห้า (พิจารณาความไม่น่าดูของเส้นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง - ตามบทที่ท่องว่าเกสา โลมาฯ นั่นแหละครับ) เสร็จแล้วก็ให้ไปพบปะกับญาติโยมถ่ายรูปอะไรกันไปตามเรื่อง (ส่วนสามสิบท่านแรกก็จะได้เข้าไปบวชในอุโบสถก่อน) จากนั้นก็ฉันเพลกันแถวนั้น เรื่องอาหารการกินของญาติโยมไม่ต้องเป็นห่วงครับ เขามีจัดซุ้มอาหารคาว-หวานเสร็จสรรพไม่ต้องไปลำบากทำเอง (เริ่มตั้งตั้งแต่ราวๆเก้าโมงเช้า) เสร็จแล้วก็ไปลาพ่อแม่ญาติโยมให้เรียบร้อยครับ (เพราะกว่าจะเสร็จก็ค่ำๆ รุ่นผมมีด้วยกัน 175 ท่าน ก็เสร็จชุดสุดท้ายตอนเกือบตีหนึ่งกันไป) 

สำหรับสามเณรที่รอเข้าโบสถ์ไปบวช ก็จะถูกพาไปสอนนุ่งห่มจีวรแบบโปรครับ ตอนเรียนเรียกได้ว่าเกิดความท้อแท้มาก เพราะทำเท่าไหร่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ซักที แต่หัดๆลองๆไปเดี๋ยวมันจะจับเคล็ดได้เองครับไม่ยากขนาดนั้น เป็นเครื่องแบบที่ว่ากันว่าวิธีห่มนั้นมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลเลยทีเดียว

เมื่อได้เวลารอบบวชของตนก็ไปเลยครับที่อุโบสถ บรรยากาศเงียบสงบและเกร็งพอสมควร ขั้นตอนไม่มีอะไรมากครับพระอุปัชฌาย์ท่านจะแนะให้เราก่อนรอบนึงว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งคนบวชหลังๆก็คอยดูคนหน้าๆเขาทำก่อนเป็นตัวอย่างได้ครับ จากนั้นก็จะทยอยขึ้นไปชุดละสามรูป คลานเข่าเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ ท่องบทคำขอนิสสัย พระอุปัชฌาย์ก็จะบอกฉายาพระแต่ละรูป จากนั้นก็กล่าวคำบอกเครื่องบริขารต่างๆเพื่อบอกย้ำว่ามันคืออะไรไว้ทำอะไร (จีวร สังฆาฎิ สบง บาตร) เราก็ว่า "อามะภันเต" (ใช่ครับ) จากนั้นก็กราบ แล้วเดินเรียงหนึ่งตามคนซ้ายมือไปใกล้ๆประตูโบสถ์ พระคู่สวดอีกสองรูปจะมาเพื่อ "ซักซ้อม" การตอบคำถามกับพระอุปัชฌาย์ครับ โดยจะถามเริ่มจากคำว่า "กุฏฐัง?" (เป็นเรื้อนใช่มั้ย?) เราก็ตอบว่า "นัตถิภันเต" (ไม่ใช่ครับ)[1] ตอบไปเรื่อยๆจนกว่าพระท่านจะถามว่า "มนุสโสสิ?" (เป็นมนุษย์ใช่มั้ย?) อันนี้ให้ตอบรับว่า "อามะภันเต" ก็ตอบไปเรื่อยๆจนจบ จากนั้นท่านจะสวดไปเรื่อยๆจนถามว่า "กินนาโมสิ?" (เธอชื่อว่าอะไร) ก็ตอบไปว่า "อะหัง ภันเต อายัสมา (ฉายาพระ) นะมะ" ครับ เป็นอันเสร็จการซ้อมหน้าประตูโบสถ์ จากนั้นพระท่านก็จะเรียกให้เข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ ก็ท่องบทคำขออุปสมบทไป และทำซ้ำตามกระบวนการเดิมที่ซ้อมเมื่อหน้าประตูโบสถ์ก็เสร็จครับ (รอบแรกเป็นเหมือนการซ้อม รอบสองคือของจริง อย่าเผลอทะลึ่งไปตอบผิดละครับ เค้าเตะออกจากโบสถ์ไม่รู้ด้วย 55)

(ดูว่าคำแปลของ "คำถามอันตรายิกธรรม" มันคืออะไร และต้องตอบอย่างไร ตามลิงค์นี้เลยครับ http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1)

เสร็จแล้วก็ไปนั่งหลังพระอุปัชฌาย์จนเสร็จครับ ท่านก็จะมาให้โอวาทเราเกี่ยวกับอนุศาสน์ 8 (นิสสัย 4 - สิ่งที่ทำได้ไม่มีใครติเตียน กับ อกรณียกิจ 4 - สิ่งที่ห้ามทำเด็ดขาด) ซึ่งเราต้องมาเอาใจใส่สี่อย่างหลังครับ เพราะทั้งหมดอยู่ใน "ปาราชิก" (อาบัติแบบที่ขาดจากความเป็นพระทันที) ก็ให้ระวังกันไปครับ จากนั้นก็ออกมาจากโบสถ์กลับกุฎิ พระท่านก็จะสอนพินทุผ้า (ทำเครื่องหมายเฉพาะตนเพื่อไม่ให้ผ้าสลับกัน) จากนั้นก็ให้พักผ่อนตามอัธยาศัยครับ รอคอยวันแรกของการเป็นพระภิกษุต่อไป (อ้อ วันแรกยังไม่ต้องออกบิณฑบาตครับ เค้าจะฝึกห่มจีวรให้มั่นใจก่อนแล้วค่อยให้ออกบิณฑบาตในวันต่อไปครับ)

ทั้งหมดนี้คือการเตรียมตัว และรายละเอียดสำหรับวันสมัคร วันสอบ วันปลงผมและวันบวชครับ สำหรับตอนต่อไปจะเป็นรายละเอียดชีวิตความเป็นอยู่และกิจวัตรของพระนวกะ (พระบวชใหม่) กันต่อไปครับ!

Note

[1] ภาษาบาลีเป็นภาษาตระกูล Romance เหมือนกับภาษาอังกฤษ ละติน ดังนั้นจะมีบางคำที่มีที่มาเดียวกัน เช่นคำ "นัตถิ" (แปลว่า ไม่) ภาษาอังกฤษคือ "nothing" ครับ คำว่า "เม" ภาษาอังกฤษคือ "me" แปลว่าตัวฉัน เป็นต้น