วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

หยิบ Whiplash มาดูตัวเอง

เพิ่งไปดูหนังมา

หนังเรื่องนี้เค้า (ใครฟะ?) แนะนำต่อๆกันมาว่าดีมาก ควรค่าแก่การไปดูเป็นที่สุด
พอดูเทรลเลอร์หนังก็ยิ่งทำให้อยากดูเข้าไปใหญ่
แต่ประเด็นคือ ยังไม่เข้าโรงฉายที่นี่เลย
จนพาลคิดไปว่ามันคงไม่เข้ามาให้ดูแล้วมั้ง

จนกระทั่งเดือนนี้

การตัดสินใจจองไม่ได้มาเพราะโชคช่วยอำนวยพรอะไร
แม้ว่าค่าหนังอาจจะแพงพอสมควร (แม้ว่าจะสมัครสมาชิกโรงหนังเพื่อรับตั๋วหนังฟรี แต่คิดง่ายๆก็คือราคาที่ต้องจ่ายให้หนังน่ะแหละ) แต่ถือได้ว่าคุ้มค่ามาก
ความรู้สึกเหมือนกับว่าแรงบันดาลใจที่หายไป (และความคิดริเริ่มต่างๆ) มันกลับมาอีกครั้ง!

*******

หนังชื่อว่า Whiplash

เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กหนุ่มมือกลอง กับอาจารย์สุดเฮี้ยบ
ดราม่า โทนมืด บีบคั้นอารมณ์สุดหัวใจ สมจริงและไม่เหนือจริง มีความเป็นมนุษย์เต็มๆ
ฉากจบนี่โคตรเท่ สนุกมากแม้ว่าจะฟังแจ๊ซไม่เป็น
แต่มันให้ความรู้สึกที่สุดยอดมากๆ บีบคั้นอะไรจะขนาดนั้น
คือตบมือให้หนังตั้งแต่ก่อนจะจบห้านาที มันสุดยอดจริงๆ

และแน่นอนว่าแรงบันดาลใจมันคือการตีความหนังเพื่อสร้างชุดไอเดียอธิบายชีวิตคนด้วย

(ต่อไปนี้อาจจะสปอยล์)

สิ่งที่เห็นชัดคือพัฒนาการของตัวละคร เด็กหนุ่มมือกลองที่เริ่มจะดาร์คขึ้นเรื่อยๆ
และความเป็นมนุษย์เริ่มน้อยลง ซึ่งกลายเป็นว่าการพัฒนาฝีมือต้องแลกมาด้วยความเป็นมนุษย์หรือ?
ส่วนนี้ตั้งคำถามได้ชัดเจน และเมื่อมองผ่านตอนช่วงเล่นโกะอย่างเอาจริงเอาจัง
ก็พบว่า มันอารมณ์แบบนี้เลย ติสต์แตก จะฝึกฝนมันท่าเดียว มนุษยสัมพันธ์เรียกได้ว่าน้อยมาก

แม้ว่าฝีมืออาจพัฒนา แต่ที่ต้องตั้งคำถามกลับไปก็คือว่า
มันทำให้เรากลายเป็นพวก self-center บ้างหรือเปล่า
ตัวละครในหนังเรื่องนี้สะท้อนภาพของการมี Ego ที่สูงมากขึ้น ไปพร้อมๆกับความคาดหวังว่าจะเป็นตัวจริงตลอดเวลา โดยลืมไปว่าตัวเองก็ยังไม่ใช่ของจริง (แม้ว่าจะเหนือกว่าคนอื่นแล้ว) จนทำให้กลายเป็นคนก้าวร้าวไปเลย

เมื่อมาเทียบกับตัวเราเองก็พบว่าคล้ายมาก แต่ความก้าวร้าวนี้มาในรูปแบบของความดื้อ ซึ่งผนวกกับความคิดที่ชอบตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆอยู่แล้ว เมื่อมันรวมกัน กลับกลายเป็นจุดอ่อนของตัวเองมาตั้งแต่ม.ปลาย จนถึงช่วงทำงานเลยทีเดียว

อย่างแรกสุดเลยก็คือความเชื่อความถือดี สุดท้ายกลายเป็นว่าเราอาจจะนำเสนออะไรที่น่าสนใจในทางความคิด แต่วิธีการนำเสนอ แสดงออก ไม่ว่าจะโทนเสียง ท่าทาง หรือคำพูด มันกลับกลายเป็นว่าก้าวร้าว แข็งแกร่งเกินไป ไม่ว่าบางครั้งจะเจตนา หรือไม่เจตนาก็ตาม แต่มันกลายเป็น "นิสัย" ไปเสียแล้ว ซึ่งยากที่จะทำให้ผู้ฟังรับฟังเป็นอย่างยิ่ง

อีกข้อที่เลวร้ายยิ่งกว่าคือ มันบิดเบือนกระบวนการเรียนรู้ของเรา คิดไปว่าเราคิดอย่างนี้น่ะถูกแล้ว แต่เอาจริงๆมันมีวิธีคืออื่นๆอยู่เหมือนกัน แต่ที่เราคิดหลายครั้งก็ยังไม่รอบด้านเพียงพอ แม้ดูเหมือนว่าเราจะคิดอย่างรอบด้านแล้วก็ตาม

ดังนั้นการใช้มาตรวัดของตนตัดสินสิ่งต่างๆนั้น ก็กลายเป็นดาบสองคมเช่นกัน แม้ว่าในด้านหนึ่งมันจะเป็นความพยายามในการฝึกฝน ตกผลึกวิธีคิดของเรา แต่ด้วยวิธีการนำเสนอที่ก้าวร้าวเกินไป และการละเลยที่จะตกผลึกให้รอบด้านเพียงพอ มันก็ทำให้กลายเป็นเรื่องที่ไม่เวิร์คไปเหมือนกัน

ความก้าวร้าวที่ฝังอยู่นี้นี่เองที่ทำให้นึกถึงมูซาชิช่วงแสวงหาตนเองเป๊ะ ยอดคนไม่ว่าจะเป็นพระหรือนักดาบระดับตำนานก็บอกมูซาชิว่า "เข้มแข็งเกินไป" ซึ่งอาจเกิดจากทัศนคติที่ผิดพลาดของมูซาชิจากเป้าหมายที่อยากจะเป็นนักดาบอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น ซึ่งจริงๆเป้าหมายไม่ใช่สิ่งที่ผิดในตัวเอง แต่อิทธิพลหรือ "ผลข้างเคียง" ของเป้าหมายนั้นต่างหากที่อาจครอบงำเราให้เกิดทัศนคติที่ผิด เช่น การเป็นอันดับหนึ่งนั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องตัดขาดจากความเป็นมนุษย์เสียเมื่อไหร่ นี่คือจุดที่เพิ่งจะมาเข้าใจได้จริงๆก็ไม่นานมานี้ และที่สำคัญคือหนังเรื่องนี้จี้จุดนี้ได้อย่างสุดยอด

แม้ว่าตอนนี้จะปรับปรุงตัวเองให้ลดความก้าวร้าวลงแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนโลกออนไลน์ที่ยึดหลักว่า "นิ่งเสียตำลึงทอง" แต่ก็ยังรู้ตัวดีว่ายังมีอคติส่วนตัวอยู่อันเป็นธรรมดาของมนุษย์ แต่อย่างน้อยก็ยังดีที่มารู้ตัวและเริ่มแก้ไขตนเองตอนนี้ ดีกว่าไปแก้กันตอนแก่เฒ่า

*******

เมื่อดูตัวละครท้าทายตนเองด้วยการซ้อม และการถูกกระตุ้นให้ทำเกินขีดจำกัดของตัวเอง
มาย้อนดูตัวเองก็รู้สึกแย่ เพราะเรายังไม่ได้ครึ่งนึงของความทุ่มเทแบบนั้นเลย
ความจริงจังเอาเป็นเอาตายแบบตอนฝึกโกะหายไปหมด
แต่เทอมนี้ก็ดีใจว่าเป็นเรื่องที่เราอยากเรียนจริงๆทั้งสิ้น ก็น่าจะดีขึ้น
เพียงแต่ความขยันแม้อาจจะมากกว่าเทอมก่อน แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดได้

หนังเรื่องนี้สร้างแรงบันดาลใจในเรื่องนี้มากๆ
เราพยายามมากพอหรือยัง? คำถามนี้ลืมถามไปนานเลย
ขอบคุณหนังเรื่องนี้ที่ทำให้ได้คิดอีกครั้ง

*******

อาจสรุปได้ว่ามันเป็นเรื่องของการศึกษา
ระหว่างอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ กับนักศึกษา
ที่แม้ความสามารถของนักศึกษาแม้มีแววแต่ก็ยังอ่อนด้อย
อาจารย์เลยขัดเกลาด้วยการกดดันต่างๆนานา เพื่อให้กลายเป็นเพชร
อารมณ์นี้ชัดๆ
ซึ่งทำให้รู้สึกว่า อืม น่าจะเอาไปใช้อธิบายลักษณะกระบวนการศึกษาของการทำวิทยานิพนธ์จริงๆ

โดยเฉพาะการยั่วล้อให้ท้าทายตนเองจากขีดจำกัด

และที่น่าสนใจก็คือตัวละครเหมือนจะยอมแพ้ไปมากกว่าหนึ่งรอบ
แต่ก็กลับมาสู้ต่อ แม้จะล้มเหลวไปไม่รู้กี่ครั้ง
(และแม้จะล้มเหลวจากการโดนแก้เผ็ดอย่างเจ็บแสบ)
แต่ตัวละครแสดงให้เห็นถึงความเป็นนักสู้ ที่กล้าที่จะเผชิญหน้ากับความอาย
แล้วกลับไปสู้เพื่อพิสูจน์ตนเอง
ตรงนี้แม่งโคตรสุดยอด ต้องทำให้ได้แบบนี้

เหมือนกับที่ตัวละครหนึ่งเคยพูดถึงนักดนตรีในตำนานว่า "หลังจากนั้นเขาก็มุ่งมั่นเพื่อที่จะไม่ให้ไปขายขี้หน้าใครเขาอีก"

นอกจากนี้ ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์กับอาจารย์เองก็ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานชอบหรือชังกันตามวิสัยธรรมดาของมนุษย์ แต่อยู่บนพื้นฐานของ perfectionism ในผลงานทางดนตรี พัฒนาการทางอารมณ์ตรงนี้เรียกได้ว่าสุดยอดมากๆ แต่ก็น่าสงสัยอยู่ว่าถ้ามองกลับมาในโลกวิชาการ จะมีสักกี่คนที่ทำได้ขนาดนี้ ที่สามารถสะกดกลั้นอคติส่วนตัวและบรรลุอุดมคติบางประการได้ แต่อย่างไรก็ตาม นี่คือหนังที่ทำให้ตื่นได้แม้ง่วงอยู่ อยากลุกขึ้นออกไปทำสิ่งต่างๆ พัฒนาตัวเองให้มากขึ้น ท้าทายตัวเองกว่าเดิม

จะรอดูว่าทำได้อย่างที่คิดมั้ย