วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เตรียมสอบ IELTS ยังไงให้ได้ Overall Band เกิน 6.5!

คุณกำลังประสบปัญหาเหล่านี้อยู่ใช่มั้ย...

มั่นใจว่าจะได้คะแนน Listening และ Reading เกิน 6.5 แต่กลับทำไม่ได้สักที

ไม่รู้ว่าต้องเขียนอะไรในข้อสอบ Writing เพื่อให้ได้ 6 ขึ้นไป

หรือเมื่อคุณกังวลว่าการสอบ Speaking ของคุณยังคงทำได้ไม่เกิน 6

เรามีทริคเล็กๆ น้อยๆ ในการสอบเพื่อให้ได้ Overall Band 6.5 !

*******

(1) 
ข้อแนะนำเบื้องต้น

อย่างแรกที่สุดเลยก็คือ เราต้องรู้ระดับของเราว่า เออตอนนี้เราน่าจะได้คะแนนประมาณเท่าไหร่ และต้องทำมากขนาดไหนกว่าจะได้คะแนนที่เราต้องการ จัดไปเลยครับ แนะนำให้ไปหาข้อสอบเก่าของ Cambridge (แนะนำตั้งแต่เล่มที่ 6-7 จนถึงปัจจุบัน - โดยเฉพาะเล่มล่าสุดๆ เพราะรูปแบบคำถามการสอบค่อนข้างจะอิงแนวนั้น) มาลองทำสัก 1 ชุด จับเวลา แล้วลองดูว่าคะแนนได้ Band เท่าไหร่บ้าง

สำหรับคนที่มีพื้นภาษาอังกฤษดี (ลองทำได้ 6 ขึ้นไป) ก็ขอแสดงความยินดีด้วย...คุณมีโอกาสได้ 6.5 ขึ้นไปในเวลาสามถึงสี่เดือนครับ ส่วนใครที่ได้ต่ำกว่านั้นไม่ต้องเสียใจไป มันแสดงให้เห็นว่าเราต้องใช้เวลาฝึกฝนภาษาอังกฤษมากกว่าคนที่มีพื้นดีครับ และอย่างน้อยมันทำให้เราพอเก็ทว่าข้อสอบจะสอบแนวไหนด้วย (ใช้เวลาสักครึ่งปีถึงหนึ่งปี สำหรับคนพื้นฐานน้อย - เช่น ได้ต่ำกว่า 5 ในแต่ละพาร์ท)

สำหรับคนที่ได้ต่ำกว่า 6 ในแต่ละพาร์ท ให้ลองดูว่าพาร์ทไหนที่เราไม่ถนัด แล้วก็ใช้เวลาฝึกฝนส่วนนั้นมากกว่าส่วนอื่น แต่ย้ำ! แค่มากกว่า ไม่ได้ให้ทิ้งส่วนอื่น เพราะบางคนย่ามใจคิดว่าได้ Reading 7.5 เลยไม่ฝึก แต่ไปฝึก Speaking ที่เคยได้ 5.5 อย่างเดียว ผลก็คือ Speaking ดีขึ้น แต่ Reading อาจลดลงก็ได้ ดังนั้นต้องฝึกทุก Skills ครับ

Listening: ทำยังไงก็ได้ให้เราคุ้นเคยกับการฟังภาษาอังกฤษ ที่นิยมกันมากคือฟังข่าว/สารคดี BBC ครับ ได้สาระและฝึกฝนไปพร้อมกัน วิธีการง่ายๆคือ เปิดกรอกหูมันเข้าไปครับ 555+ (ฟังใจความด้วยนะเฮ้ย)

บางคนอาจชอบฟังเพลง จัดไปครับ เพลงภาษาอังกฤษ ฟังมันเข้าไป ไม่เข้าใจก็ไปหาเนื้อเพลงมาดูแล้วฝึกร้อง

อีกวิธีที่ไม่น่าเชื่อว่าจะช่วยได้ คือลองฟัง Tape ของข้อสอบเก่าครับ และดู Tapescript ตามไปด้วย อันนี้ได้จริงๆ มีบางคนลองทำวิธีนี้แล้วอัพได้ถึง Band 8 ด้วย!

จะเพอร์เฟคมั่กๆ ถ้าเราได้มีโอกาสคุยภาษาอังกฤษ และ/หรือเรียนภาษาอังกฤษครับ ช่วยได้เยอะมากๆ

Reading: แนะนำให้อ่านนิตยสาร Times ครับ เริ่มต้นด้วยของง่ายนี่แหละ ข้อสอบไม่ออกยากขนาดบทความใน The Economist ครับ อ่านบทความนึงสักหน้านึง พยายาม skim แต่ละย่อหน้าให้ได้ว่าเค้าสื่ออะไร (ทักษะการ skim สำคัญมากๆ ในการสอบครับ)

Writing: แนะนำว่าควรไปหาคอร์สฝึกเขียน คือการฟังกับอ่านน่ะฝึกเองได้ แต่การเขียนนี่ถ้าไม่ทำบ่อยๆ หรือไม่เคยรู้วิธีการเขียน essay นี่ควรเรียนครับ ถ้าเวลา/ทุนทรัพย์ไม่สะดวกจริงๆ ลองหาหนังสือสอนการเขียนครับ

ถ้าเป็นไปได้ ลองเขียนบล็อคดูครับ วันละบล็อคถ้าทำได้ เป็นภาษาอังกฤษ จะพูดถึงเรื่องข่าว ชีวิตตัวเอง ก็ทำครับ เป็นการฝึกการคิดเป็นภาษาอังกฤษในหัวในเวลาเขียน และถ้าจะให้ดี ฝึกวางโครงสร้างการเขียนก่อนเขียนก็จะดีครับ

Speaking: ฝึกยากที่สุดแล้วในทุกพาร์ท แนะนำให้ไปหาคอร์สเรียนครับ

แต่ถ้ามีเวลาฝึกมาก ก็ฝึกฟัง ฝึกอ่านเยอะๆครับ ฟังถ้าเราฟังมากเราจะรู้สำเนียงที่ถูกต้องและเลียนแบบมาได้โดยไม่รู้ตัว (แต่ต้องฝึกพูดตามด้วยนะ) อ่านเยอะๆเพื่อให้เรารู้รูปประโยค และคำศัพท์ เพื่อเอามาใช้สื่อสารได้ ถ้ามีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษก็ใส่ไม่ยั้งครับไม่ต้องกลัวผิดถูก ประเด็นคือต้องพูดชัด คนฟังไม่งง สื่อความหมายได้ชัดเจน พัฒนาความคิดได้เหมือนพูดไทย (แต่อาจไม่ fluent เท่า) และใช้ไวยากรณ์พื้นฐานได้ เท่านี้ก็เป็นพื้นฐานที่ดีแล้วครับ

ถ้าใครคิดว่า Vocab ยังอ่อนหัด ไปฝึก Vocab ครับ อาจจะไปหาหนังสือ Vocab for IELTS ของ Cambridge (มีสองเล่ม) ไม่ก็โหลดแอพ Magoosh ฝึกคำศัพท์ IELTS ครับ

ใครอ่อนแกรมม่า ไปหาหนังสือแกรมม่าพื้นฐานมาฝึก ของ Cambridge เค้าก็มีครับ เรียกได้ว่าครบวงจรเลย

ทั้งหมดที่พูดมาคือการฝึกฝนในชีวิตประจำวันนะครับ ยังไม่ใช่ข้อสอบ

*******

(2)
ฝึกทำข้อสอบ

อันนี้สำคัญมากครับ ไม่ทำไม่ได้ ช่วงแรกๆจัดไปเลยครับ สัปดาห์ละชุด (หลังจากที่ลองฝึกพื้นฐานด้านบน) แล้ว และก็มารีวิวดู ถ้ามีคนช่วยรีวิว Essay หรือช่วยประเมินการพูดเราได้จะดีมากครับ (เป็นเหตุผลว่าทำไมควรไปเรียน อย่างน้อยก็การเขียนและพูด - การอ่านและฟังฝึกเองได้)

ถ้าจะ intensive หน่อยก็วันละชุดไปเลยครับ หรือถ้างานเยอะก็ฝึกสม่ำเสมอวันละ Part เช่น วันนี้ฝึกข้อสอบฟัง พรุ่งนี้ข้อสอบอ่าน มะรืนข้อสอบเขียน ฯลฯ หรือจะจัดเวลาให้วันนึ้ฝึกอ่าน พรุ่งนี้ฝึกฟัง มะรืนฝึกเขียน แล้วฝึกพูดทุกวัน ก็แล้วแต่สไตล์ และเวลาที่จะอำนวยครับ

สำคัญที่การวางแผน และทำให้ได้ตามแผน (ทำน้อยๆสม่ำเสมอ ดีกว่าปั่นโค้งสุดท้าย)

Listening: เวลาทำข้อสอบให้อ่านดีๆ ว่าเค้าต้องการให้ตอบ No more than กี่ word และถ้าในโจทย์มีหน่วย (เช่น ดอลลาร์) อยู่แล้ว ก็ไม่ต้องทะลึ่งเขียนหน่วยลงไปในคำตอบเรา (แต่ถ้าไม่มี ต้องเขียนครับ) คนตรวจจะคิดว่าเราไม่รอบคอบ ตอบซ้ำจากโจทย์อยู่แล้ว รวมถึงระวังพวกลงท้ายด้วย s/es/ed/t และระวังเอกพจน์/พหูพจน์ ถ้าช่วงเวลาก็ x to y

แนะนำให้เขียนตัวพิมพ์ใหญ่สำหรับคำตอบ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาชื่อเฉพาะ (ถ้าเราเขียนผิด ก็ผิดทันที) และถ้าเป็นไปได้ ให้ลองฝึกกับกระดาษคำตอบของจริง (โดยเฉพาะเวลาลอกคำตอบลงไป) บางทีมีคนตอบถูกแต่ลอกลงกระดาษผิดลำดับ ก็ผิดรัวๆสิครับ

เวลาทำข้อสอบแนะให้หา Keyword ของโจทย์แต่ละข้อ (ส่วนใหญ่ให้วง Verb ครับ) และพยายามมองล่วงหน้าไปหลายๆข้อ (เวลาผมทำคือ วง Keyword แต่ละคำถาม แล้วประมวลผลไปว่าแต่ละข้อต้องการคำตอบอะไรจากเรา (predict) แบบนี้จะช่วยมากๆครับ) ซึ่งเทปเองยังให้เวลาเรามองไปล่วงหน้าครับ ไม่ต้องกังวล (ระวังพาร์ท 2-3-4 เพราะคำถามจะยากขึ้น ส่วน Part 4 คำถามไม่ยาก แต่เราต้องใช้ทักษะอ่านล่วงหน้ามากกว่า เพราะเค้าจะถามเราพร้อมกัน 10 คำถามครับ ไม่เหมือนพาร์ทก่อนๆที่มาทีละ 5 หรือทีละ 7)

ถ้าข้อไหนไม่ทันข้ามไปเลย แล้วค่อยมามั่วทีหลังครับ ไม่งั้นคะแนนหายรูดไปแน่ๆ

ใครยังฟังไม่ถนัดกลับไปฝึกในชีวิตประจำวันเพิ่มด้วยครับ ช่วยได้เยอะจริงๆ

Reading: อย่าเสียเวลาอ่าน Passage ทั้งหมด เพราะเราจะทำไม่ทัน แต่ให้ skim ดูชื่อบทความ ชื่อรองบทความ ส่วนต้น/ท้ายของย่อหน้าแรกและย่อหน้าสุดท้ายเพื่อให้รู้ว่ามันเกี่ยวกับอะไร แล้วเผ่นไปดูคำถามเลยจ้า แล้วค่อยเอาคำถามมาล่าหาคำตอบใน passage

คำถามถ้าถามว่าแต่ละย่อหน้ามีความหมายอะไร/หรือมีข้อความนี้อยู่หรือไม่ มันคือการบอกใบ้ว่าพี่ต้องอ่านทั้ง passage นะจ๊ะ (หรือเกือบทั้งหมด) ถ้าเก่งแล้วก็ทำก่อนได้ครับ พอรู้ว่าแต่ละย่อหน้าคืออะไรก็ไปตอบข้อสอบส่วนอื่นที่ถามประเด็นเฉพาะได้

อีกแบบคือมันจะมีคำถามที่ถามเฉพาะจุด บางย่อหน้าสองย่อหน้า ให้เราหา Keyword (เช่น ชื่อคน) แล้วไปดูใน passage แล้วก็ตอบคำถาม ทีนี้เราก็ได้มาละ 3-4 คะแนน ก็ค่อยๆเก็บคะแนนไป แล้วค่อยไปทำส่วนที่เราต้องอ่านหมดทุก passage จริงๆ

พยายามอ่านให้เข้าใจจริงๆ อย่าอ่านเรื่อยเปื่อย หลีกเลี่ยงคำตอบชอยส์ที่เป็นคำสรุปตายตัว หรือมีคำเป๊ะจากที่เราอ่าน แต่เราให้ทำความเข้าใจเนื้อหาโดยภาพรวมจริงๆ

ยากที่สุดของ Reading ก็ True/False/Not Given (บางทีถาม Yes/No/Not Given) ให้ระวังว่าเค้าให้เราเขียนอะไรลงไป True หรือ Yes ไม่เหมือนกัน เราเข้าใจถูกแต่เขียน True แทน Yes ก็ผิดครับ

ทริคในการทำส่วนนี้คือ อิงจาก Text เป็นหลัก ถ้าใน passage มีเขียนชัดเจน (ตรงๆ หรือ paraphrase) ก็ตอบ T/Y ถ้าข้อความขัดแย้งกับคำถาม ตอบไปเลยว่า F/N แต่ถ้าคำถามให้มาแต่เราหาไม่เจอ จัดไปเลย NG มันคือให้เราคิดแบบตรรกะโดยอิงข้อมูลที่ให้มา (อันนี้เอาไว้ตัดคะแนนคนโดยเฉพาะเลยครับ ต้องระวัง)

อย่าลืมเขียนคำตอบเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ และต้องเขียนคำตอบทันที ไม่มีเวลาแฮปปี้มีลให้เราลอกคำตอบเหมือนสอบฟังครับ

พยายามทำ passage แรกให้เสร็จภายใน 15 นาที passage ที่สอง 20 นาที passage สุดท้าย 30 นาที ถ้าคล่องแล้วตอนสอบจริงจะมีเวลาเหลือเข้าห้องน้ำสิบนาทีสุดท้ายก่อนสอบเขียนครับ! (หรือเอาไว้ใช้ทวนก็ได้)

Speaking: เอาการพูดขึ้นก่อนเพราะการเขียนซับซ้อนกว่าครับ

หลักๆที่เค้าจะวัดเรามี 4 เรื่อง

- พูดเยอะๆ และตอบเคลียร์: ใครพูดน้อยเพราะกลัวผิดก็ไม่มีทางได้ Band 6 ครับ (ไปดู Band descriptor ได้) ประเด็นคือคนจะได้ 6 ขึ้นไปต้องพูดเยอะๆครับ อย่านิ่ง พูดผิดได้ครับไม่เป็นไร (Band 7 ยังมีเขียนเลยว่ามีผิดบ้าง) แกรมม่าผิดนี่ปกติ อย่าซีเรียส ซีเรียสที่ความหมายที่เราจะสื่อครับ ถ้าเราสื่อความหมายชัดเจนและพูดเยอะๆ ขั้นต่ำคือ 6 แน่นอน (แต่ก็ต้องทำด้านอื่นๆให้ได้ดีด้วย)

นอกจากนี้เราต้องตอบให้เคลียร์ สมมติเราจะตอบว่าผมกำลังเรียนอยู่ ก็ควรจะให้รายละเอียด (พูดง่ายๆคือเม้าท์) ว่าเราเรียนอะไร เรียนมากี่ปี ชอบเรียนวิชาอะไร ทำไมถึงเรียน ฯลฯ พูดง่ายๆคือฝอยเป็นอะครับ โดยเฉพาะการยกตัวอย่าง ฝรั่งเค้าถือว่าสำคัญมากๆ ยิ่งถ้าเราสามารถฝอยต่อยอดประเด็น พัฒนาประเด็นได้นี่ คะแนนกระฉูดครับ (โดยเฉพาะคนที่ฝึก critical thinking มา ได้เปรียบมากๆ เพราะจะพัฒนาประเด็นได้มีน้ำหนักและน่าสนใจ) ถ้าทำตรงนี้ได้ก็ไม่ต่ำกว่า 6 แน่นอน

- สำเนียง: งานนี้ใครสำเนียงดีมีชัยไปกว่าครึ่งครับ เน้นที่การลงท้ายเสียง s/ch/t/d ใครติดสำเนียงไทยก็ไม่เป็นไรครับ ประเด็นอยู่ที่การพูดลงท้ายเสียง รองลงมาก็การ stress เสียงของคำ ถ้าอยากจะได้คะแนนดีๆ เวลาพูดควรมีแบ่งเว้นจังหวะ และพูดเหมือนเจ้าของภาษาครับ เช่น This is a book เวลาออกเสียงก็ออกเป็น Dis sis sa book ติดๆกันไป อันนี้เรียกคะแนนได้กระจายครับ พาร์ทอันนี้จะเป็นเหมือนคะแนนโบนัสในการพูดครับ

- ใช้ไวยากรณ์ "ตามกติกา": กติกาหลักคือ เราควรใช้ประโยคความรวมและความซ้อนเป็น ใน Band descriptor บอกเลยครับใครไม่ใช้ Subordinated clause นี่คะแนนแกรมม่าเหลือ 4 แน่นอน ฉะนั้นฝึกไปเลยครับการใช้ although, even though และ relative clause อย่าง who, which that (ผมใช้ although กับ which เยอะสุด) เช่นเวลาเราจะตอบ x บางทีก็บอกว่า although y ไปก่อน แล้วค่อยตอบ x หรือเวลาเราพูดถึงบางเรื่อง เราอาจใส่ which เพื่อขยายความเพิ่มขึ้น จุดนี้แหละครับที่รับประกันว่าใช้บ่อยๆแล้วได้ไม่ต่ำกว่า 6 แน่นอน

ลืม ถ้าบางทีคำตอบเราเกี่ยวข้องกับการคาดคะเนอนาคต หรือไม่แน่ใจ ใช้ modals (may/might/can/could) หรือใช้ Suppose/Perhaps ก็ช่วยเรียกคะแนนครับ (โดยเฉพาะการตอบในส่วนที่สาม)

- รู้คำศัพท์หลากหลาย: เช่น ยานพาหนะ เรามักจะพูดถึง cars แต่บางทีถ้าเราใช้ vehicles มันจะดูหรูขึ้นเยอะ คะแนนมาครับ บางทีถ้ามีโอกาสก็ใส่ศัพท์ที่เราเคยเรียนมา โดยเฉพาะศัพท์เชิงวิชาการที่เรามักเห็นตามสื่อต่างๆ (เช่น sustainable development/ manipulate etc. - ใช้เฉพาะเมื่อช่วยตอบคำถามนะครับ ไม่งั้นใช้ผิดก็โดนตัดคะแนน) บางคนรู้จักพวกคำอย่าง pull off/pull on อะไรพวกนี้ก็ช่วยได้เยอะครับ หาสถานการณ์ที่จะใช้ให้ได้ละกัน

ใช้คำที่ไม่ค่อยใช้กันบ่อยคะแนนจะเยอะครับ โดยเฉพาะ idioms ลองหา idioms ในใจสักอันสองอันไว้ใช้ก็ได้ เช่น to put it in a nutshell อันนี้ช่วยได้เยอะเวลาเราจะสรุปอะไรสักอย่างตอนท้าย ก็ได้คะแนนเพิ่มไป ซึ่งทั้งหมดนี้เราต้องฝึกครับ เพราะถ้าไม่ฝึกเราก็ไม่รู้ว่าควรใช้คำไหนตอนคำถามไหน

ทำได้ทั้งหมดนี้ได้เกิน 6 ชัวร์ครับ

สำหรับข้อสอบมี 3 ส่วน

- แนะนำตัว: ไม่ต้องซีเรียส ตอนเค้าทักทายเราก็ตอบขำๆไป ตอนเค้าขอเช็ค ID ก็ตอบไปว่าได้ครับ/ค่ะไปธรรมดา เค้ายังไม่วัดอะไรครับตรงนี้ เค้าจะวัดจริงๆคือตอนถามคำถามประเภท บ้านคุณอยู่ที่ไหน (คุณชอบแถวบ้านคุณไหม ฯลฯ) คุณเรียนหรือทำงานอยู่ (คุณเรียนอะไร ชอบมั้ย คุณทำงานอะไร ชอบมั้ย ฯลฯ) หลังจากนั้นอาจจะถามประเด็นทั่วไป (เช่น เที่ยว ครอบครัว ถ่ายรูป ประวัติศาสตร์ ฯลฯ) ในส่วนนี้ก็ตอบไปตามที่ถาม + พัฒนาประเด็นเพื่อฝอยครับ อันนี้เป็นการวอร์มอัพเรา คำถามนึงพยายามตอบให้ได้ราวๆ 30 วิ - 45 วิ อย่าเกินนั้น เพราะ Examiner เค้าอยากถามคำถามเราเยอะๆครับ (ของผมโดนแต่เรื่องทำงาน สลับไปที่บ้านเกิด และสลับมาที่เรื่องงานอีกที - น่าจะโดนไป 3-4 คำถาม)

- พูดคนเดียว: จากนั้น Examiner จะสุ่มเปิดหัวข้อที่เราจะต้องพูดคนเดียว โดยเรามีหน้าที่อ่านโจทย์ เตรียมคำตอบโดยจดลงในกระดาษที่เค้าจะให้ มีเวลาหนึ่งนาทีในการเตรียม จากนั้นก็ให้เวลาสองนาทีพูดคนเดียวครับ

ที่เราต้องทำคือ ตอบให้ครบทุกคำถามที่เค้าถาม และ organize คำตอบ (เช่น Firstly, Secondly, Finally ถามประเด็นคำถามที่เราต้องตอบ - เขียน keyword ที่จะตอบใน mind map ก้างปลาช่วยประหยัดเวลาครับ) พยายามฝอยให้แต่ละประเด็นมันไม่ห้วนจนเกินไป แต่ก็ต้องระวังเวลาเผื่อเราตอบคำถามไม่หมดด้วย และอาจจะเริ่มจาก Today I would like to talk about... และจบด้วย To put it in a nutshell ก็ได้ ก็น่าจะโอเค (พยายามพูดไปจนกว่า Examiner จะบอกให้เราพอด้วยครับ ตอบสั้นก็คะแนนน้อย)

- คิดและตอบและคิด: เสร็จแล้ว Examiner จะถามคำถามเราตามประเด็นที่เราพูดมาในส่วนที่แล้ว เช่น อนาคตคุณคิดว่าเครื่องจักรจะมีประโยชน์มั้ย คุณคิดว่าประเด็นผู้สูงอายุนี่จะมีแนวโน้มไปทางไหน ฯลฯ ตรงนี้นี่แหละครับที่เราต้องฝอยให้เยอะที่สุด และต้องฝอยอย่างมีหัวคิด มีตรรกะด้วย คำตอบเราไม่มีผิดหรือถูก ประเด็นคือเราจะให้เหตุผลที่มีน้ำหนักมาสนับสนุนคำตอบเราได้หรือไม่ และเราสามารถพัฒนาประเด็นไปไกลกว่าคำถามได้มั้ย เช่น ผมโดนถามว่าในอนาคตหุ้นยนต์จะมีบทบาทมากไหมในอนาคต ก็ตอบไปเลยว่าแน่นอนครัช โดยเฉพาะหุ่นยนต์ที่เอามาใช้ทำงานแทนคน (แล้วก็ยกตัวอย่าง) และอีกตัวอย่างที่ยกคือ มันน่าจะเอามาช่วยผู้สูงอายุในยุคที่ผู้สูงอายุกำลังมากขึ้น บลาบลา แต่ก็นั่นแหละครับ มันก็อาจมีข้อเสีย เช่น มันอาจแฮงค์ ฯลฯ ยาวๆไปครับ หลังจากนั้น Examiner แกก็จี้ไปถามเรื่องผู้สูงอายุว่าในอนาคตแนวโน้มมันจะส่งผลอะไรกับสังคม ก็ฝอยไปเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง สนับสนุนประเด็นด้วยการยกประเด็นจากเรื่องอื่นๆ และบางทีก็บอกไปว่าแต่มันอาจไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป หรือมันอาจไม่ได้แย่เสมอไป ฯลฯ ประเด็นคือการให้เหตุผลเราต้อง valid เหมือนกันครับ

ตรงนี้เราอาจจะตื่นเต้นและพูดผิดๆถูกๆ ไม่เป็นไรครับ (ผมก็มีพูดผิดแกรมม่า มีเอ่อ อ่า) พยายามตั้งสติเข้าไว้ และเนื่องจากเราต้องคิดสดในการตอบ การฝึกจึงสำคัญมากๆครับ

Writing: สิ่งที่เค้าจะวัดเราคล้ายๆกับข้อสอบพูดครับ แต่อย่างแรกที่จะแนะนำคือ ทำข้อสอบข้อสองก่อน! (เพราะได้คะแนนมากกว่า) พยายามทำข้อสองให้เสร็จภายใน 30-40 นาที (เพอร์เฟคถ้าภายใน 30 นาที) ต้องซ้อมเขียนเยอะๆครับ

ประเด็นที่เค้าจะวัดเรามี 4 อย่าง

- ตอบเคลียร์ ข้อเสนอชัดเจนและมีเหตุผลสนับสนุน: อันนี้สำคัญที่สุดครับ ต้องอ่านโจทย์ก่อนเสมอและตอบตามที่โจทย์ถาม ระวังเวลาเราเตรียม pattern การเขียนเข้าไปแต่มันถามคนละอย่าง อันนี้ต้อง adapt ครับ โดยปกติแล้ว 1 ประเด็นต่อ 1 ย่อหน้า เช่นถ้าถามว่า to what extent + or - ก็จัดไปเลยครับ 4 ย่อหน้า อินโทรก็ประกาศไปเลยว่าเราอยู่ฝ่ายไหน ย่อหน้าที่สองก็พูดถึงเหตุผลสนับสนุนของอีกฝ่าย ย่อหน้าที่สามบอกเหตุผลสนับสนุนฝ่ายที่เราอยู่ ส่วนสรุปก็ restate ข้อเสนอหลักและเหตุผลสนับสนุนเชิงเปรียบเทียบ (คิด thesis statement ให้ออกด้วยครับ นี่ีคือหัวใจของการเขียน)

ถ้ามีคำถามมากกว่านี้ก็เล่นไปตามเกม อาจเพิ่มอีกย่อหน้าก่อนสรุปเพื่อตอบคำถามนั้น

อย่าตอบอ้อมแอ้มไปมาว่าเอออันนี้ก็ดีแต่ก็มีข้อเสียอันนี้ รักพี่เสียดายน้อง แบบนี้คะแนนน้อยครับ การเขียนเรียงความภาษาอังกฤษประเด็นอยู่ที่การสร้างข้อเสนอของเรา (take side) และหาเหตุผลสนับสนุน เราอาจจะบอกว่า A มีประโยชน์ก็จริง แต่ B มีประโยชน์มากกว่าเพราะอะไรก็ว่าไปครับ เขียนแบบนี้ดีกว่า (เพอร์เฟคถ้าเราสามารถโจมตีส่วนที่สนับสนุน A ได้ ขณะที่ส่วนนั้นช่วยสนับสนุน B ไปในตัว - แต่ไม่จำเป็นครับ)

- ทุกย่อหน้าสัมพันธ์กันสำหรับการตอบคำถาม: พูดไปแล้วในข้อที่แล้วครับ หลักๆคือเราต้องวางแผนการเขียนก่อนเขียนจริงเสมอๆ ลองลิสต์ว่า A มีอะไร B มีอะไร แล้วเราจะ take side ไหน จากนั้นก็เรียบเรียงครับว่าแต่ละย่อหน้าต้องตอบอะไรบ้าง พยายามตอบคำถามที่ถามมาด้วย

ใช้ Signpost อย่าง Nevertheless, However, In short, etc. ก็ช่วยครับ (บางคนอาจเขียน Firstly, Secondly อันนี้แนะนำไปใส่เป็นตัวอย่างของแต่ละย่อหน้า อย่าไปเขียนนำหน้าย่อหน้าครับ เค้าจะมองว่าเราเขียนแบบหุ่นยนต์ คะแนนจะน้อยลง) In addition, Furthermore พวกนี้ใส่เป็นการยกตัวอย่างประเด็นสนับสนุนเพิ่มเติมครับ ไม่แนะนำให้ใส่ขึ้นต้นย่อหน้า (Moreover เป็นคำแรง ประมาณว่าที่ตามมาทีหลังอะสำคัญกว่าอันแรก ต้องดูดีๆว่ามันจริงหรือเปล่า)

ลืม พยายามเขียนเกินที่กำหนดมานิดนึง (250 ก็เขียนไม่เกิน 270 150 ก็ซัก 160) เขียนมากไปไม่ดีเพราะยิ่งมากยิ่งผิด แต่เขียนน้อยกว่าที่กำหนดโดนตัดคะแนน เวลาซ้อมเขียนให้ซ้อมกับกระดาษคำตอบจริง เราจะได้กะถูกว่าบรรทัดไหนเราถึงคิดว่าคำมันพอแล้ว

- ใช้ไวยากรณ์ตามกติกา: กฏเดิมกับการสอบพูดครับ Although, though, who, which, that มาเต็มครับ แต่งานนี้เราอาจต้องเพิ่ม Tense บ้าง เช่น past simple/ present simple/ present con. เป็นต้น และก็ศึกษาวิธีใช้ comma จากการเขียน although อะไรพวกนั้นครับ รวมถึงการใช้ past participle ในประโยคให้เป็น (พูดง่ายๆคือ เขียนประโยชน์ความรวม/ความซ้อนให้เป็น) คะแนนจะมาครับ

- ใช้คำศัพท์หลากหลาย: พยายามหาคำเหมือนมาใช้แทนกัน และหาคำศัพท์เชิงวิชาการ/ข่าวมาใช้ตอบคำถาม ก็จะได้คะแนนดีครับ

สำหรับข้อสอบมีสองข้อ

- ข้อสอง: คำถามจะให้ข้อความมาประโยคสองประโยค แล้วก็ถาม (บางทีคำถามเดียว (แต่ต้องเขียนถึงสองเรื่อง) บางทีสองคำถาม) ใช้คำแนะนำตามที่แนะไปด้านบนได้เลย

- ข้อหนึ่ง: ความยากของมันคือการที่เราต้องมานั่งดูกราฟ ตาราง แล้วมาเขียน ประเด็นหลักอยู่ที่การหาชุดข้อมูลที่สำคัญกว่าอันอื่นๆ (ให้ความหมาย) ซึ่งหลักๆก็คือ trend (แนวโน้ม เช่น A แนวโน้มขึ้น แต่ B แนวโน้มลง C คงที่) magnitude (สูง ต่ำ - เหมาะสำหรับรูปที่ไม่มี trend มาให้ หรืออาจมี trend มาแต่เราต้องใส่เข้าไปด้วย)

ถ้าเป็นแผนที่ เขียนว่าหลักๆแล้วเรากำลังจะเขียน "อะไรที่เปลี่ยนไปจากเดิม" ถ้าเป็นกระบวนการผลิตอะไรสักอย่างนึง ก็บอกไปว่ากระบวนการใหญ่ๆมีด้วยกัน 3 phase ประกอบด้วยกี่ขั้นตอนก็ว่าไป ความสำคัญคือเราต้องรู้ภาพรวมกว้างๆของข้อมูล

ดังนั้นส่วนอินโทรก็เขียนไปบรรทัดเดียวพอครับ แค่เขียนว่ารูปนี้/กราฟนี้แสดงถึงข้อมูลอะไร ช่วงปีไหน ว่าไป หรือรูปนี้แสดงข้อมูลแผนที่อะไร หรือกระบวนการอะไร

อีกบรรทัด (จะเขียนเป็นอีกย่อหน้าก็ได้) อันนี้แหละคือ key message ในการเขียนภาพรวมของข้อมูล (thesis statement) ถ้าเป็นกราฟก็หา trend หรือ magnitude ถ้าเป็นกระบวนการก็บอกว่ามีขั้นตอนใหญ่ๆสามขั้นตอน มีกี่ขั้นตอนย่อย ถ้าแผนที่ก็บอกภาพรวมความเปลี่ยนแปลง

ส่วนสุดท้ายคือเขียนรายละเอียดในอีกย่อหน้า ก็ควรเขียนไล่ลอจิคที่เราเขียนภาพรวมไป เช่น เราเขียน trend A มาก่อนก็เขียนข้อมูลประกอบของ A ไป ถ้ากระบวนการก็ไล่ขั้นตอนไปเรื่อยๆ ถ้าแผนที่ก็คล้ายๆกระบวนการ

ไม่จำเป็นต้องเขียนสรุปครับ เสียเวลา เอาเวลาไปเขียนอธิบายข้อมูลสำคัญๆของรูปให้เสร็จดีกว่าครับ (ยกเว้นเขียนเสร็จหมดแล้วแต่คำไม่ถึง 150 ค่อยสรุปอีกทีให้ถึง 150)

ถ้ามีหน่วย อย่าลืมหน่วย มีตัวเลขอย่าลืมใส่ตัวเลข ข้อมูลใส่เฉพาะที่เราจะอธิบาย trend ใหญ่ๆ (บางทีเราอาจจะ mention ถึงความสูง/ต่ำของข้อมูลด้วยเวลาอธิบาย trend ใหญ่) ถ้าเป็นกราฟ พยายามเลือกนำเสนอ หาความสัมพันธ์ของข้อมูล อย่าอธิบายทุกอย่าง เป็นไปไม่ได้ครับ ข้อสอบวัดตรงนี้ ข้อหนึ่งนี่เป็นตัวหารคะแนนที่ดีมากๆ (ผมได้ Writing 6.5 โดยเดาว่าข้อสองได้ 7 แต่ข้อหนึ่งได้ 5.5 นี่แหละ!)

ในกราฟการใช้ Verb และ Adjective/Adverb ที่พูดถึงลักษณะการขึ้น/ลง และจำนวน (เยอะมากๆ เร็ว ช้า คงที่ น้อย ฯลฯ) นี่ก็สำคัญครับ ช่วยดึงคะแนนส่วนคำศัพท์ได้เยอะ

ทริคการเขียนที่ดีมากๆเรียนรู้ได้จากเว็บนี้เลยครับ http://www.ielts-english.info/ (ผมเคยเรียนที่นี่ ทริคการสอบเขียนและพูดก็ได้จากที่นี่แหละครับ และเพิ่งมาเก็ทมากขึ้นเมื่อมาอ่านในเวบนี่แหละครับสำหรับการเขียนข้อหนึ่ง) ถ้าใครมีทุนทรัพย์พอแนะนำให้เรียนเขียนกับพูดที่นี่ครับ ดีมากๆ ถ้าเรียนคนเดียวไม่ไหวลองหาเพื่อนมาเรียนด้วยกันครับ ผมว่าคุ้มกว่าคอร์สหมื่นกว่าบาทที่คลุมสี่ทักษะ แต่เรียนกันหลายคนครับ เพราะอาจารย์แกใส่ใจมากๆ ถ้าเราขยันฝึกที่บ้าน อาจารย์แกก็ขยันคอมเมนท์งานเขียน และเทปที่เราฝึกพูดครับ)

*******

(3)
ส่งท้าย

ทริคทั้งหมดจะไม่มีผลถ้าเราไม่เอาไปฝึกฝนให้ชำนาญ

และอย่าลืมว่า IELTS ฝึกทักษะต่างๆตามที่เราได้สะสมมา ยิ่งฝึกยิ่งใช้บ่อยยิ่งได้คะแนนดี ไม่ฝึกไม่ใช้ก็คะแนนไม่ดีไปตามสภาพครับ (คนได้ 5 กับ 7 คือแตกต่างกันสิ้นเชิง ขณะที่ 6 กับ 6.5 ยังอาจจะไม่ห่างมาก)

สมมติเราทำ Listening 7 Reading 7.5 ถ้าอยากได้ 6.5 เฉลี่ย Speaking และ Writing ต้องได้ 6 ครับ (ถ้าอยากได้มากกว่านี้ก็ต้องอัพสกิล ฝึกไปเรื่อยๆ)

สำหรับผม ผมสอบสามครั้งกว่าจะได้คะแนนที่ต้องการ

- ครั้งแรก: Listening 7 Reading 7 Writing 5 Speaking 5.5 เฉลี่ย 6 (ต้องการ 6.5 แต่ละพาร์ท 6) เรียกได้ว่าผิดหวังมาก

- ครั้งที่สอง: Listening 7 Reading 7.5 Writing 5.5 Speaking 6 เฉลี่ย 6.5 ปัญหาอยู่ที่ Writing

- ครั้งที่สาม: Listening 7.5 Reading 7.5 Writing 6 Speaking 7 เฉลี่ย 7! (ต้องการแค่ Writing 6 แต่ได้ Speaking แถม)

ประเด็นคือสองครั้งแรกผมฝึกไม่ดี (สอบเดือนกันยา เดือนธันวา 2556 ตามลำดับ) ไม่ค่อยฝึกซ้อมทำข้อสอบและฝึกฝนตัวเองสักเท่าไหร่ แต่ครั้งที่สาม (สอบมีนา 2557) เกิดจากการที่ลาออกจากงานไปเทคคอร์สพูดและเขียน และไปเรียน AUA คอร์ส Pre-sessional นี่แหละ (ซึ่งก็ฝึกทั้งพูดและเขียน) พอมันได้ใช้ทุกวันคะแนนมันก็ขึ้นครับ

ส่วนล่าสุดหลังจากจบโทที่อังกฤษมาแล้วปีนึง ก็ไปสอบอีกครั้ง (กันยา 2559) เพราะต้องใช้ต่อเอก ก็เลยต้องจัดตารางทำข้อสอบเก่า ใช้เวลาเตรียมตัวเดือนนึง (แต่ไม่ได้ทำทุกวันครับ งานเยอะ) ผลปรากฏว่า

- ครั้งล่าสุด: Listening 7.5 Reading 8 Writing 6.5 Speaking 7.5 เฉลี่ย 7.5! (ตอนสอบเสร็จแอบไม่มั่นใจ Listening Writing Speaking เลย แต่พอรู้คะแนนแล้วก็ดีใจมาก เพราะขี้เกียจสอบแล้ว 55)

หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ

*******

Acknowledgement

ทริคทั้งหมดที่ใช้ตอนสอบนี้รวบรวมมาจากหลายแหล่งในเว็บ (Reading/Listening/Speaking - ขออภัยที่จำเว็บไม่ได้เพราะเยอะและไม่ได้เก็บแหล่งที่มาเอาไว้) และมาจากอาจารย์ที่เรียนสำหรับ Writing และ Speaking (อาจารย์ Barry แห่ง IELTS English และอาจารย์ Peter จาก AUA - ไม่เกี่ยวกับ IELTS โดยตรงแต่ช่วยเรื่องการพูดและเขียนได้มากๆ โดยเฉพาะเรื่อง subordinate/relative clauses และการใช้ comma) ต้องขอบพระคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงครับ









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น