วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ข้อมูลการบวชวัดชลประทานฯแบบละเอียด (Part 2: ชีวิตและกิจวัตรของพระนวกะ)

หลักจากตอนที่แล้ว (http://botsleepyboyz.blogspot.com/2014/06/part-1.html) ได้พูดถึงการเตรียมตัวบวชที่วัดชลประทานฯไปพอสมควรแล้ว คราวนี้ก็จะพูดถึงชีวิตและกิจวัตรของพระนวกะ (พระบวชใหม่) ครับ แต่จะพูดในลักษณะคร่าวๆ ทั่วไป เพื่อที่จะได้เห็นภาพรวมทั้งหมดครับว่ามันไม่ได้โหดหินน่ากลัวอะไรขนาดนั้น และที่สำคัญก็คือ ตารางกิจกรรมก็ไม่ได้ว่างจนเกินไปครับ

(1) ทำวัตรเช้า: ธรรมะรับอรุณ

โดยปกติแล้ว พระอาจารย์ท่านไม่ได้กำหนดอะไรตายตัวหรอกครับว่าต้องตื่นกี่โมง (ปกติก็ตีสามครึ่ง) แต่ที่แน่ๆก็คือเราต้องไปทำวัตรเช้ากันที่โรงเรียนพุทธธรรม (ชั้นสอง ห้องพื้นไม้ แอร์เย็นฉ่ำ - นับว่าโชคดีกว่ารุ่นสมัยก่อนเยอะเลยครับ) ตอนประมาณตีสี่ครับ พระอาจารย์ท่านจะเปิดเพลงธรรมะไม่ก็ปาฐกถาธรรม (คือเทศน์นั่นแหละ) ของท่านหลวงพ่อปัญญารอพระนวกะเอาไว้ครับ ใครไปก่อนจะฟัง หรือนั่งกัมมัฎฐานสงบใจอะไรไปก็ตามสบายครับ

เมื่อมากันพร้อมแล้วก็ถึงเวลาทำวัตรเช้ากันครับ ซึ่งการทำวัตรเช้า (รวมถึงทำวัตรเย็น) ของภิกษุสงฆ์นี้จุดมุ่งหมายก็เพื่อระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์) และการสำรวมกาย วาจา ใจ ก่อนที่จะเริ่มต้นวันใหม่ (รวมถึงก่อนจำวัด สำหรับการทำวัตรเย็น) ด้วยการสวดมนต์ครับ

ข้อดีของที่นี่คือ การสวดมนต์ทำวัตรจะไม่ใช่สักแต่ว่าท่องคำภาษาบาลีให้ดูเข้มขลังแต่ฟังไม่รู้เรื่องเท่านั้น แต่จะมีบทสวดแปลให้สวดคู่กันไปด้วย เรียกได้ว่าแปลประโยคต่อประโยคครับ เพื่อให้เราเข้าใจว่าเราท่องอะไรอยู่ และจะได้เกิดความยินดีในการระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และหากวันไหนพระอาจารย์ท่านให้สวดบทพิเศษ (ที่ไม่ได้อยุ่ในบทสวดทำวัตรเช้า-เย็นปกติ) ก็จะยิ่งได้ประโยชน์ครับ เพราะบทพิเศษเหล่านั้น ล้วนเป็นบทที่ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติธรรม และหลักธรรมต่างๆที่เราเคยท่องจำกันตั้งแต่เด็ก (เช่น โอวาทปาฏิโมกข์ มรรคมีองค์แปด) หรือบทใหม่ๆที่มาเพื่อสำหรับการทำความเข้าใจในเรื่องกัมมัฎฐาน (อานาปานสติสูตร บทที่ว่าด้วยการพิจารณาสังขาร) ฯลฯ ซึ่งอันนี้แหละครับที่ผมคิดว่าคือหัวใจของการมาบวชที่นี่ทีเดียว

(สำหรับบทสวดมนต์แปลฉบับนี้ไปซื้อหามาอ่านได้ที่ร้านหนังสือตรงข้ามกุฎิสี่เหลี่ยมได้ครับ สนนราคาประมาณ 30 บาท (ถ้าอยากอ่านบทพิเศษจะมีเล่มบางๆขายแยกครับ เล่มละ 15 บาท) โดยร้านจะเปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ครับ ก็ไปใส่บาตรพระแล้วแวะไปหามาอ่านก็เป็นไอเดียที่ดีไม่ใช่เล่น (และยังมีหนังสือและซีดีอื่นๆดีๆอีกมากครับ ในราคาย่อมเยา แนะนำจริงๆ) )

เมื่อทำวัตรเช้าเสร็จแล้ว พระอาจารย์ท่านจะให้ "สงบใจ" ก็คือนั่งสมาธิ เจริญภาวนาอะไรไปนี่แหละครับ จากนั้นท่านก็จะเล่านิทานเซ็น หรือที่ติดปากพระนวกะว่า "ธรรมะรับอรุณ" นี่แหละครับ จากนั้นก็จบ เสร็จประมาณตีห้าครับ แต่อาจมีเลทได้ไม่เกินสิบห้านาที

(2) บิณฑบาต: วัตรปฏิบัติที่มิอาจว่างเว้น

กลับมาจากทำวัตรเช้า ก็คือเตรียมตัวไปบิณฑบาตกันครับ โดยปกติแล้วพระนวกะจะมีการแบ่งสายการเดินบิณฑบาตไปตามที่ต่างๆ และเวลาการเดินบิณฑบาตของแต่ละสายจะไม่เหมือนกัน แต่ส่วนมากจะอยู่ราวๆตีห้าครึ่ง ถึงราวๆหกโมงเช้า สำหรับสายของผมตอนนั้นคืออยู่ที่หมู่บ้านสี่ไชยทอง ไปเจอหลวงพี่ที่นำสายประมาณตีห้าสี่สิบ แล้วก็เดินเลยครับ ไปตามทาง

ตอนเป็นพระนี่เข้าใจเลยว่าเดินสำรวมเป็นยังไง กังวลจีวรว่ามันจะหลุดมั้ยบ้างละ (เดี๋ยวจะมาว่ากันด้วยเรื่องจีวรตอนหลังครับ) ต้องระวังว่าจะทำบาตรตกมั้ยบ้างละ (เป็นอาบัตินะครับ ฐานขาดสติ+ไม่สำรวม แหะๆ) ต้องระวังไม่ให้โดนตัวญาติโยม ต้องบริหารจัดการของใส่บาตรของญาติโยมว่าจะเก็บอะไรไปฉัน จะเอาอะไรให้พระท่านอื่นๆฉัน ต้องดูทางเดินว่ามีกับดัก หรือเศษแก้วหรือไม่ ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นการฝึกที่ดีครับ ต่อให้ง่วงแค่ไหนก็ตื่นกันแน่นอนตรงนี้ 55

ตอนเดินบิณฑบาตนี่ความรู้สึกคนละอย่างกับการเป็นฆราวาสรอใส่บาตรเลย นอกจากต้องสำรวมระวังอย่างที่ว่ามาแล้ว เวลาญาติโยมไม่ว่าจะเด็กจะแก่ไหว้เรานี่มันทำให้เราต้องกลับมาทบทวนตัวเองเสมอว่า ได้ทำตัวให้น่าไหว้น่าเคารพอย่างนั้นหรือยัง? รักษาศีล 227 ข้อได้อย่างไรแล้วบ้าง? เพราะอาหารที่ญาติโยมเอามาใส่เนี่ยมันจะมีประโยชน์สุดๆถ้าเราตั้งใจปฏิบัติครับ ไม่ว่าจะศีล หรือภาวนาก็ตาม ก็ยิ่งทำให้ต้องเอามาทบทวนตัวเองเรื่อยๆครับ ซึ่งตอนเป็นฆราวาสเราจะไม่ค่อยคิดเรื่องแบบนี้หรอก มัวแต่ไปจ้องจับผิดคนอื่น แทนที่จะพยายามจับผิดตัวเอง และขัดเกลาตนให้มากพอ

และเราจะสังเกตได้เลยครับว่าบ้านไหนเป็นขาประจำ กับขาจร และที่แน่ๆคือผมพบเบาะแสส่วนหนึ่งแล้วครับว่าบ้านไหนใส่ปลากระป๋องมาครับ ซึ่งเห็นแล้วก็ไปนึกถึงตอนยังทำค่ายแล้วมาขอปลากระป๋องที่วัดเลยทีเดียว 555

(เกือบลืมครับ พระจริงๆห้ามให้พรโยมตอนบิณฑบาตนะครับ เป็นอาบัติ เค้าถือว่าห้ามแสดงธรรมโยมตอนยืนอยู่ จะให้พรหรือแสดงธรรมได้ต่อเมื่อนั่งแล้วเท่านั้น พระที่วัดนี้เลยจะกลับมาที่วัดก่อนแล้วค่อยให้พรกันครับ)

(3) นั่งรับบิณฑบาตที่ลานหินโค้ง: เตรียมฉันมื้อเช้า

สายบิณฑบาตที่ผมสังกัดนี้จะกลับมาถึงลานหินโค้งประมาณหกโมงครึ่งครับ (มีโยมอุปัฎฐากที่บ้านและที่ทำงานอยู่แถวนั้น มาบริการรับของใส่บาตรไปใส่ในถุง และบริการส่งพระกลับวัดด้วยรถกระบะครับ (อนุโมทนาด้วยครับ) เหตุที่สายนี้ต้องนั่งรถกลับ เพราะระยะทางเดินบิณฑบาตมาค่อนข้างไกลพอสมควรครับ สายอื่นๆที่ระยะทางสั้นกว่าก็จะเดินกลับมา ประมาณนี้ครับ) ก็เดินไปถ่ายของที่ได้มาในกะละมังส่วนกลาง เก็บมื้อเช้าและเพลไว้เลยครับ จากนั้นไปนั่งรอโยมมาใส่บาตรกันไป บางวันโยมเยอะเพราะเป็นวันพระ บางวันโยมน้อยก็ไม่เป็นไรครับ ก็ว่าไปตามเรื่อง (พวกเราถึงกับมีคำพูดว่า "ไปวัดดวงกับโยม" ซึ่งหมายถึงว่าในวันนั้นได้ของบิณฑบาตน้อย และของในกะละมังกลางก็น้อย เลยต้องไปวัดดวงว่าโยมที่จะมาใส่บาตรที่ลานนั้นจะใส่อะไร เข้าทำนองไปตายเอาดาบหน้า 555)

เจ็ดโมงครึ่งก็จะให้ญาติโยมสมาทานศีล และกล่าวคำขอถวายทาน ที่นี่ผมชอบมากครับ เพราะคำถวายทานไม่ได้พูดว่า "เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ของข้าพเจ้าทั้งหลาย" แต่พูดว่า "เพื่อบริจาคและสละออก เพื่อขจัดเสียซึ่งอาสวะกิเลสทั้งหลาย (ความเห็นแก่ตัว)" ตรงนี้จับใจครับ จากนั้นพระก็จะท่องบทพิจารณาบิณฑบาตว่าไม่ได้ฉันเพื่อให้เกิดกำลังส่วนเกินนะ แต่ฉันเพื่อให้ไม่หิว จะได้สามารถทำกิจของสงฆ์ได้ทั้งวันเท่านั้น เสร็จแล้วก็เริ่มลงมือฉันเลยครับ

เวลาฉันฉันบนฝาบาตร (ได้ยินไม่ผิดครับ ฝาบาตร) และต้องสำรวมครับ วันแรกบวชใหม่ๆไม่ได้เรียนเรื่องศีลพระเจอข้าวมันไก่โยมก็โซ้ยแบบฆราวาส (มือนึงยกฝาบาตรขึ้นมา มือนึงถือช้อนซัดโฮกๆ) ก็อาบัติกันไปนะครับ 55 วันหลังๆเลยต้องวางฝาบาตรไว้ที่พื้น หั่นกับข้าวให้พอดีคำ แล้วตักมาใส่ปากแบบสำรวม (บางทีมีโยมถวายผลไม้มา ก็ลองเอาผลไม้ไปผสมกับข้าวดูครับ กะว่าจะลองพิจารณาอาหารแบบแนววัดป่ามั่ง ปรากฏว่าอร่อยกว่าเดิมครับ กิเลสหนาโดยไม่รู้ตัวแทน 55)

เสร็จแล้วก็เช็ดฝาบาตร บาตร แล้วผูกบาตรไว้ให้เรียบร้อย เวลาประมาณแปดโมง (บางวันเลทกว่านั้นครับ) ก็พร้อมกันให้พรโยมไปกรวดน้ำกันไป เสร็จแล้วก็แยกย้ายกลับกุฏิครับ โยมก็กลับบ้านกันไป ถึงตรงนี้พระนวกะจะมีเวลาราวๆหนึ่งชั่วโมง สำหรับคุยสารทุกข์สุกดิบกับญาติโยม ล้างบาตร สรงน้ำ (บางท่านร้อนมากก็สรงได้ครับ) และเตรียมตัวเข้าเรียนเวลาประมาณเก้าโมงสิบห้าครับ

(4) เรียนพระธรรม 

คาบเรียนปกติจะมีสองช่วง คือช่วงเช้า (9.15 - 10.45) และช่วงบ่าย (13.00 - 15.30) หัวข้อธรรมะก็หลากหลายครับ พระอาจารย์ทั้งหลายก็จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้ความรู้กันไป ใครบวชสามสิบวันก็จะได้เรียนเยอะกว่าคนอื่นเป็นพิเศษครับ

แต่สำหรับสามวันแรก ทั้งคาบเช้าและบ่ายจะเป็นเวลาของการ "นั่งกัมมัฎฐาน" (คือนั่งสมาธินั่นแหละครับ) ตรงนี้แหละเรียกได้ว่าใครชอบปวดเมื่อยหรือวอกแวกจะเจอปัญหา เพราะรุ่นที่ผมบวชนี่พระอาจารย์ท่านเน้นนั่ง ไม่เน้นให้ฟังท่านสอน เรียกได้ว่าทำเอาผมปวดไหล่ไปเลยทีเดียว

แต่แปลกครับ ปวดหนักๆวันนึงแต่พอฝืนทำกิจวัตรอะไรไป ปรากฏตัวยืดหยุ่นขึ้น! ก้มเอานิ้วมือไปแตะนิ้วเท้าได้โดยขาไม่งอ ซึ่งตอนแรกผมทำไม่ได้แท้ๆ เลยตั้งทฤษฎีมาลอยๆเองว่า เออหรือว่าพวกฤาษีที่นั่งปฏิบัติยาวๆแล้วเค้าตัวยืดหยุ่นเล่นโยคะได้นี่เพราะนั่งขัดสมาธิยืดเส้นนานนี่เอง! ก็เดากันไปต่างๆนานา 555

แต่ตรงนี้อยากให้ตั้งใจกันครับ เพราะเป็นพื้นฐานที่สามารถเอาไปปฏิบัติต่อได้เวลาว่างๆ ขณะเดินบิณฑบาต พัก ซักจีวร ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละคนแต่ละท่านว่าจะปฏิบัติมากน้อยอย่างไร

ส่วนรุ่นจำพรรษาจะจัดหนักพิเศษ เจ็ดวันเต็มครับ

(5) พักผ่อน ทำวาระ และประชุมรวม

เรียนเสร็จตอนเช้าก็กลับมาฉันเพล เวลาฉันเพลก็ต้องห่มจีวรด้วยแม้ว่าจะอยู่ในกุฏิก็ตามเพื่อความสำรวม เสร็จแล้วก็ทำกิจวัตรส่วนตัว ล้างบาตร ซักจีวร สรงน้ำ (ตอนนั้นอาบวันละ 4 ครั้ง คือตอนเช้า หลังซักจีวร หลังทำวาระ (กวาดถนนวัด) และก่อนนอน) เรียกได้ว่ากว่าจะเสร็จก็ไม่มีเวลาพักผ่อนเลย (เหลือครึ่งชัวโมงก่อนเรียน ก็ทำอะไรไม่ได้มาก วันหลังๆเลยต้องลดปริมาณแฟ้บเพื่อจะได้ซักน้ำเปล่าน้อยลงแทนไป ก็ได้เวลาคืนมาพอสมควรครับ)

จริงๆเวลาว่างเค้าจะให้นั่งอ่านหนังสือ (ทางวัดแจกแบบจัดเต็มมากครับ หนังสือเทศน์ของหลวงพ่อปัญญาแก่พระนวกะรุ่นจำพรรษาทั้งสามเดือน เรียกได้ว่าอ่านจบเหมือนบวชพรรษานึงเลยทีเดียว แถมด้วยหนังสือนวโกวาทที่พระใหม่ต้องอ่าน ซึ่งว่าด้วยพระวินัย 227 ข้อ และหลักธรรมที่ควรรู้ต่างๆ และหนังสือธรรมะอื่นๆอีกมากมายที่จะแจกกันให้อ่าน สรุปคือสุดยอดครับ) แต่ส่วนมากพวกเราก็มักจะจำวัดกันครับเพราะมันเหนื่อยล้าจริงๆ บางวันท็อปฟอร์มก็จะชงกาแฟฉันไปเพื่อให้ตาสว่างอ่านหนังสือได้ครับ แต่บางวันมันไม่ไหวก็หลับไปก็มี

ส่วนทำวาระ (กวาดลานวัด ล้างห้องน้ำ) จะทำหลังจากเรียนคาบบ่ายเสร็จ จะมีการแบ่งกลุ่มไปทำครับ ก็เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ที่ดี สร้างมิตรภาพกับเพื่อนพระนวกะ และฝึกตนได้ดีนักแลทีเดียว

เสร็จแล้ว (โดยเฉลี่ยทำกันประมาณยี่สิบนาทีถึงครึ่งชั่วโมง) ก็กลับไปสรงน้ำ พักผ่อน และรอเรียกประชุมรวมในกุฎิสี่เหลี่ยมของพระนวกะเวลาห้าโมงเย็นครับ โดยการประชุมรวมนี้พระอาจารย์ท่านจะมาพบปะพูดคุยเรื่องราวต่างๆ บางครั้งก็สอนธรรมะบางหัวข้อในหนังสือนวโกวาท ซึ่งมันจะมีรสชาดมากเมื่อท่านเล่าตัวอย่างจากประสบการณ์ที่ท่านประสบพบเจอมา ก็ได้ทั้งสาระและความสนุกสนานไปตามเรื่องครับ (ตรงนี้เราจะรู้ได้เลยว่า พระอาจารย์ท่านใจดีมากครับ ที่ดุไปก็ดุไปอย่างนั้นแหละ) ซึ่งประชุมรวมก็จะเสร็จประมาณหกโมงเย็น เพื่อให้เตรียมตัวไปทำวัตรเย็นเวลาหกโมงครึ่งครับ

(6) ทำวัตรเย็น (และเรียนธรรมะเพิ่มเติม)

ที่ไม่รวมกับทำวัตรเช้าเพราะนอกจากจะสวดมนต์แปลแล้ว ก็จะมีการนั่งกัมมัฎฐาน และบทสวดพิเศษที่พูดถึงในหัวข้อทำวัตรเช้านี่แหละครับจะเป็นหัวข้อไฮไลท์ในการเรียนพระธรรมตอนเย็นหลังสวดมนต์เสร็จ (ทำวัตรเช้าพระอาจารย์ท่านจะไม่ได้อธิบายลงรายละเอียดครับ แต่จะแค่สรุปว่าที่จะสวดกันมันคืออะไรเฉยๆ) บางวันพระอาจารย์ท่านจะนำภาพผ่าตัดศพมาเป็นการศึกษาอสุภะ (ความเน่าเปื่อยของร่างกาย) หรือเรื่องอื่นๆตามแต่ท่านจะนำมาครับ ทั้งหมดนี้ผมถือว่าเป็นการเรียนที่ดีมากๆพอสมควรเลยทีเดียว

เวลาในการทำวัตรเย็นตั้งแต่หกโมงครึ่งถึงสองทุ่มครึ่งครับ สวดจะสวดกันราวๆชั่วโมงนึง สอนอีกชั่วโมงนึง (นั่งกัมมัฎฐานแล้วแต่วันครับ บางวันนิดเดียว บางวันไม่สอนอะไรแต่ให้นั่งยาว) ถ้ามีคำถามจะตามไปถามนอกรอบหลังคาบได้ครับ โดยส่วนตัวผมชอบคาบนี้มากครับ ได้เรียนรู้อะไรมากมายที่ไม่เคยรู้จากคาบนี้จริงๆ ทำให้กลับมาดูตัวเองว่ายังไม่รู้อะไรอีกเยอะ และต้องลงมือปฏิบัติต่อไปอีกมาก

เสร็จแล้วก็แยกย้ายไปพักผ่อนครับ ส่วนมากจะปลงอาบัติกัน (ปลงเพื่อแสดงความละอายว่าไปผิดศีลอะไรในใจ แล้วบอกไปว่าวันต่อไปจะสำรวมกาย วาจา ใจ พยายามไม่ทำผิดอีก) จากนั้นก็สรงน้ำแล้วค่อยจำวัด (บางวันอยากอ่านหนังสือก็อ่านครับ อยากนั่งกัมมัฎฐานก็นั่ง) จากนั้นก็ตื่นมาตีสาม ตีสามครึ่งเพื่อทำกิจวัตรในวันต่อไปครับ (ไม่แนะนำให้นอนดึกครับ เพราะมันง่วงมากจริงๆ คอนเฟิร์ม)

*******

ทั้งหมดนี้คือกิจวัตรของพระนวกะของวัดชลประทานฯครับ สำหรับโพสต์ต่อไปจะเป็นข้อมูลเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอื่นๆพอสังเขปเพิ่มเติมเพื่อประกอบเรื่องการใช้ชีวิตของพระใหม่ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น